การตัดสินยุบพรรค และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลเมื่อวันพุธที่ 7 สิงหาคม โดย คำวินิจฉัยของศาล รัฐธรรมนูญ ก่อให้เกิดคำวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม นักวิชาการรวมถึงนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงจำนวนมากอย่างรุนแรง รวมไปถึงการตั้งข้อสังเกตจากมิตรประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยผ่านสื่อโดยเปิดเผยอย่างที่เราแทบจะไม่เคยเห็นมาก่อน ย่อมมีนัยสำคัญต่อมาตรฐานของคำวินิจฉัยเหล่านี้อย่างที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ก็คงไม่ต้องย้อนไปกล่าวถึงคำวินิจฉัยอีกหรอกครับ เพราะมันก็ไม่ได้หลุดไปจากความคาดหมายของสังคมเท่าไรนัก เอาเป็นว่าคนไทยไม่ควรสนใจหรือให้ราคาอะไร เพราะเราไม่เห็นว่าได้อ้างอิงหลักกฎหมายหรือกฏเกณฑ์ใดๆอย่างที่มาตรฐานควรจะเป็น
ในต่างประเทศ แม้เป็นประเทศที่เจริญแล้ว จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็เคยผ่านเหตุการณ์ที่ศาลยุติธรรมหรือแม้กระทั่งศาลสูง ตัดสินคดีความผิดพลาด ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น สาเหตุอาจเกิดจากอคติ หรือค่านิยมของคณะตุลาการเอง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความผิดพลาดเหล่านั้นก็มักได้รับการแก้ไขเยียวยาให้กลับเข้าสู่ความถูกต้องได้
สหรัฐอเมริกาก็เช่นเดียวกัน ศาลสูงของประเทศ (Supreme Court of the United States) เคยตัดสินคดีความผิดพลาดบกพร่อง จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมหลายครั้งหลายคราว บางครั้งถึงกับเป็นต้นเหตุให้เกิดสงครามกลางเมืองที่ทำให้ผู้คนล้มตายมากมาย โชคดีที่รัฐธรรมนูญของประเทศ ให้เสรีภาพในการพูด การวิจารณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงถูกนำมาถกเถียงจนนำไปสู่การศึกษา วิจัยเพื่อนำมาใช้ในการป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ไม่ให้เกิดซ้ำรอยขึ้นมาอีก
ในที่นี้จะขอนำตัวอย่างคดีสำคัญ ที่เป็นที่โจษขานมากเป็นอันดับต้นๆ มานำเสนอเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นเป็นตัวอย่างว่า คำตัดสินแย่ๆของศาลนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคม เกินกว่าที่เราจะจินตนาการถึงมากมายเพียงใด
คดีเดร็ด สก็อตต์กับแซนด์ฟอร์ด (Dred Scott v. Sandford : 1857)
เดรด สก็อตต์ เป็นทาสชาวแอฟริกันอเมริกันที่ยื่นฟ้องต่อศาลสูงของอเมริกา เพื่อเรียกร้องอิสรภาพ โดยอ้างว่าเขาได้เคยอาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นเขตเสรีหรือรัฐที่ห้ามการมีทาส ดังนั้นไม่ว่าเขาจะเดินทางไปอยู่ที่ใดก็ควรได้รับการพิจารณาว่าเป็นอิสระชน
อย่างไรก็ตาม ศาลสูงภายใต้การนำของหัวหน้าผู้พิพากษา โรเจอร์ บี. ทานีย์ ตัดสินไม่เห็นด้วยกับสก็อตต์ ศาลวินิจฉัยว่าชาวแอฟริกันอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นเสรีชนหรือทาส ไม่สามารถเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกาได้ นอกจากนี้ยังประกาศว่าข้อตกลงมิสซูรี (Missouri Compromise) ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การมีทาสเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในทุกดินแดนของสหรัฐอเมริกา
ผลกระทบต่อคำตัดสินนี้ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างรัฐทางภาคเหนือและภาคใต้เพิ่มสูงขึ้น จนในที่สุดก็มีส่วนสำคัญที่นำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองในปี 1861
ภูมิหลังของคดีเดรด สก็อตกับแซนด์ฟอร์ด
คดีเดรด สก็อตต์ เป็นหนึ่งในคำตัดสินที่อื้อฉาวที่สุดในประวัติศาสตร์ของศาลสูงสหรัฐอเมริกา จากสาระสำคัญของคดีที่เกี่ยวข้องกับทาสและสิทธิความเป็นพลเมืองของชาวแอฟริกันอเมริกัน หรือคนผิวดำ แต่ผลกระทบที่ตามมานั้นลุลามไปไกลกว่าปัญหาหลักของคดี และได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองของอเมริกา กล่าวกันว่าประชากรร้อยละสองของประเทศ ต้องจบชีวิตลงในสงครามนี้
เดรด สก็อตต์ เกิดในฐานะทาสในรัฐเวอร์จิเนียประมาณปี 1795 ต่อมาในปี 1832 เขาถูกซื้อโดย ดร. จอห์น เอเมอร์สัน (Dr. John Emerson) ศัลยแพทย์ทหาร ด้วยอาชีพทหารของเอเมอร์สัน ทำให้เขาสามารถพาสก็อตต์ไปยังดินแดนเสรี เช่นรัฐอิลลินอยส์และวิสคอนซิน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ห้ามมีทาสภายใต้ข้อตกลงมิสซูรี (Missouri Compromise : 1820) ในช่วงเวลานี้ สก็อตต์ได้แต่งงานกับแฮเรียต โรบินสัน (Harriet Robinson) ซึ่งเป็นทาสเช่นกัน พวกเขามีลูกด้วยกันสองคน
ในปี 1838 เอเมอร์สันกลับไปยังรัฐมิสซูรี ซึ่งเป็นรัฐที่อนุญาตให้มีทาส โดยพาครอบครัวสก็อตต์ไปด้วย ในจุดนี้เองที่สก็อตต์พยายามขอซื้ออิสรภาพให้กับตัวเองและครอบครัว แต่เอเมอร์สันปฏิเสธ การปฏิเสธนี้นำไปสู่การดำเนินการทางกฎหมายของสก็อตต์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของคดีที่จะไปถึงศาลสูงของอเมริกาในที่สุด
การต่อสู้ด้วยกฎหมายของเดรด สก็อตต์
การต่อสู้ทางกฎหมายของสก็อตต์เริ่มขึ้นในปี 1846 เมื่อเขายื่นฟ้องต่อศาลของรัฐมิสซูรี โดยอ้างว่าการที่เขาได้อาศัยอยู่ในดินแดนเสรีทำให้เขาเป็นเสรีชน ในตอนแรกศาลมิสซูรีตัดสินให้สก็อตต์ชนะคดี แต่คำตัดสินนี้ถูกกลับคำพิพากษาโดยศาลฎีการัฐมิสซูรีในปี 1852
หลังจากความพ่ายแพ้นี้ ทนายของสก็อตต์ได้นำคดีขึ้นสู่ศาลสูงของสหรัฐอเมริกา (Supreme Court of the United States) พวกเขาอ้างว่าสก็อตต์เป็นพลเมืองของรัฐมิสซูรี และด้วยเหตุนี้ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาคดีระหว่างเขากับเอเมอร์สัน ซึ่งในเวลานั้นได้ย้ายไปอยู่ที่นิวยอร์กแล้ว ภายใต้เขตอำนาจศาลที่เรียกว่า diversity jurisdiction จนในที่สุดคดีเดร็ดสก็อตต์กับแซนด์ฟอร์ด ก็ขึ้นสู่ศาลสูงของสหรัฐอเมริกา
คำตัดสินของศาลในคดีเดรด สก็อตต์กับแซนด์ฟอร์ด
วันที่ 6 มีนาคม 1857 หัวหน้าผู้พิพากษา โรเจอร์ บี. ทานีย์ (Roger B. Taney) ได้อ่าน คำวินิจฉัยของศาล คำตัดสินนั้นไม่เป็นคุณกับสก็อตต์ในทุกด้าน และที่ร้ายกว่านั้นยังไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประเด็นเฉพาะของคดี แต่ยังได้มีการขยายไปถึงสถานะของชาวแอฟริกันอเมริกันและอำนาจของสภาคองเกรสในการควบคุมทาสอีกด้วย
ประเด็นสำคัญของคำตัดสินในคดีเดรด สก็อตต์
- ชาวแอฟริกันอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นเสรีชนหรือทาส มิได้เป็น และไม่สามารถเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกาได้ ทานีย์อ้างว่า ในช่วงเวลาที่มีการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ชาวแอฟริกันอเมริกันถูกมองว่าเป็น “สิ่งมีชีวิตที่ด้อยกว่า” และ “ไม่มีสิทธิใดๆ ที่คนผิวขาวจะต้องให้ความเคารพ”
- เนื่องจากสก็อตต์ไม่ใช่พลเมือง เขาจึงไม่มีสิทธิฟ้องร้องต่อศาลสูงของอเมริกา
- ข้อตกลงมิสซูรี ซึ่งห้ามการมีทาสในบางดินแดน เป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลวินิจฉัยว่าสภาคองเกรสไม่มีอำนาจในการห้ามการมีทาสในดินแดนต่างๆ
- บทบัญญัติว่าด้วยกระบวนการอันชอบธรรมตามกฎหมาย (Due Process Clause) ในรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 5 คุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินของเจ้าของทาส รวมถึงตัวทาสด้วย ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลกลางไม่สามารถปลดปล่อยทาสที่ถูกนำเข้ามาในดินแดนของรัฐบาลกลางได้
ผลกระทบและสิ่งที่ตามมาจากคดีเดรด สก็อตต์
คำตัดสินในคดีเดรด สก็อตต์ ได้สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวางเนื่องจาก
- ก่อให้เกิดความปั่นป่วนทางการเมือง คำตัดสินนี้ทำให้การถกเถียงในระดับชาติเกี่ยวกับทาสและสิทธิของรัฐ ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพิ่มความแตกแยกระหว่างรัฐในภาคเหนือและภาคใต้ จนเรียกได้ว่าไม่อาจหาข้อยุติด้วยสันติวิธีได้
- เป็นการการเสริมพลังให้กับขบวนการที่เคลื่อนไหวให้มีการเลิกทาส แม้จะเป็นความพ่ายแพ้สำหรับฝ่ายต่อต้านการมีทาส แต่คำตัดสินนี้กลับกระตุ้นให้นักเคลื่อนไหวเพื่อเลิกทาสมีพลังมากขึ้น และเพิ่มการสนับสนุนสำหรับขบวนการของพวกเขาเพื่อให้มีการเคลื่อนไหวให้เข้มแข็งกว่าที่เคยทำมาก่อนหน้านี้
- พรรครีพับลิกันแข็งแกร่งขึ้น พรรครีพับลิกันซึ่งเป็นพรรคหัวก้าวหน้าที่เพิ่งก่อตั้ง และมีนโยบายต่อต้านการขยายระบบทาส ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นอันเป็นผลมาจากการต่อต้านของสาธารณชนต่อคำตัดสินนี้
- เป็นเส้นทางนำไปสู่สงครามกลางเมือง การที่คำตัดสินนี้ทำให้ข้อตกลงมิสซูรีเป็นโมฆะ และอนุญาตให้มีทาสในทุกดินแดนโดยพฤตินัย ได้ขจัดความเป็นไปได้ของการประนีประนอมทางการเมืองเกี่ยวกับการขยายระบบทาส ทำให้เกิดความขัดแย้งโดยการใช้อาวุธมีความเป็นไปได้มากขึ้น
- มรดกทางกฎหมาย คำตัดสินนี้ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในคำตัดสินที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของศาลสูงของสหรัฐ แม้ว่าต่อมาจะได้ถูกล้มล้างโดยปริยายภายหลังการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 13 และ 14 ซึ่งยกเลิกทาสและให้สิทธิพลเมืองแก่บุคคลทุกคนที่เกิดในสหรัฐอเมริกา โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ แต่ก็ต้องผ่านสงครามกลางเมืองที่ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเหลือคณานับ
บทสรุปของคดีเดรด สก็อตต์กับแซนด์ฟอร์ด
คดีเดร็ด สก็อตต์ ยังคงเป็นเครื่องเตือนใจที่ชัดเจนถึงการที่ศาลสูงสามารถเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดความเป็นไปของสังคม และการเมืองของอเมริกาได้ คดีนี้แสดงให้เห็นว่าคำตัดสินของศาล บางครั้งอาจทำให้ความขัดแย้งในสังคมเลวร้ายลง แทนที่จะช่วยคลี่คลายให้เกิดความเป็นธรรมและขจัดปัญหาที่เกิดขึ้น คดีนี้ยังคงได้รับการศึกษาไม่เพียงแต่ในความสำคัญทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องราวเตือนใจเกี่ยวกับอันตรายจากการใช้อำนาจตุลาการเกินขอบเขตและความสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอีกด้วย
คดีเพลสซี่กับเฟอร์กูสัน (Plessy v. Ferguson : 1896)
โฮเมอร์ เพลสซี่ (Homer Plessy) ซึ่งมีเชื้อสายแอฟริกันหนึ่งในแปดส่วน ได้ร่วมกิจกรรมท้าทาย “กฎหมายรถแยก” (Separate Car Act) ของรัฐลุยเซียนา ที่บัญญัติให้มีการแบ่งแยกตู้รถไฟสำหรับคนผิวดำและคนผิวขาวไม่ให้ปะปนกัน
ศาลสูงของสหรัฐได้ตัดสินรับรองกฎหมายดังกล่าว และได้สถาปนาหลักการ “แบ่งแยกแต่เท่าเทียมกัน” (separate but equal : doctrine) ศาลวินิจฉัยว่าการแบ่งแยกเชื้อชาติเป็นสิ่งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตราบใดที่สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเชื้อชาติต่างๆ มีความ “เท่าเทียมกัน”
คำตัดสินนี้ทำให้การแบ่งแยกเชื้อชาติเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย และนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายจิม โครว์ (Jim Crow laws) อย่างแพร่หลายทั่วภาคใต้ของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติอย่างเป็นระบบเป็นเวลาติดต่อกันนานหลายทศวรรษ
ภูมิหลังของคดีเพลสซี่กับเฟอร์กูสัน
คดีเพรสซีกับเฟอร์กูสัน เป็นคดีที่ถูกวิพากษ์วิารณ์มากที่สุดอีกคดีหนึ่งในประวัติศาสตร์การตัดสินคดีของศาลสูงของสหรัฐอเมริกา คำตัดสินมีผลกระทบต่อการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้สร้างหลักการ “แบ่งแยกแต่เท่าเทียมกัน” (separate but equal) ขึ้นมาเป็นบรรทัดฐาน ส่งผลให้การแบ่งแยกเชื้อชาติในสถานที่สาธารณะกลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายเป็นเวลาหลายทศวรรษ คดีนี้เกิดขึ้นในบริบทเมื่อสิ้นสุดยุคฟื้นฟูหลังสงครามกลางเมือง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐทางใต้หลายรัฐกำลังมีความพยายามในการออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิของชาวแอฟริกันอเมริกัน แม้ว่าจะได้มีการผ่านรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 13, 14 และ 15 แล้วก็ตาม
ในปี 1890 รัฐลุยเซียนาได้ผ่าน “กฎหมายรถแยก” (Separate Car Act) ซึ่งกำหนดให้มีตู้รถไฟแยกสำหรับคนผิวดำและคนผิวขาว กฎหมายนี้เป็นหนึ่งในกฎหมายจิม โครว์ (Jim Crow laws) ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อบังคับใช้ในรัฐทางภาคใต้ เพื่อแบ่งแยกเชื้อชาติ และรักษาสถานภาพแห่งความเหนือกว่าของคนผิวขาว
การทดสอบด้วยการท้าทายทางกฎหมาย
โฮเมอร์ เพลสซี่ ชายที่มีเชื้อสายผสม (เขามีสายเลือดผิวขาวเจ็ดในแปดส่วนและผิวดำหนึ่งในแปดส่วน) ตกลงที่จะเข้าร่วมในการทดสอบกฎหมายของรัฐที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการพลเมือง (Citizens’ Committee) เพื่อท้าทายความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ “กฎหมายรถแยก”
วันที่ 7 มิถุนายน 1892 เพลสซี่ได้ซื้อตั๋วโดยสารชั้นหนึ่งของขบวนรถไฟสาย East Louisiana Railway เขาจงใจเข้าไปนั่งในตู้ที่ถูกจัดไว้สำหรับเฉพาะผู้โดยสารผิวขาวเท่านั้น เมื่อมีเจ้าหน้าที่มาพบ และขอให้เขาย้ายไปยังตู้ที่จัดไว้สำหรับคนผิวสี เพลสซี่ปฏิเสธ เขาจึงถูกจับกุมและถูกส่งไปคุมขังที่สถานีตำรวจ
ทนายของเพลสซี่โต้แย้งว่า “กฎหมายรถแยก” ละเมิดรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 13 และ 14 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 13 คือยกเลิกการมีทาส ในขณะที่ฉบับที่ 14 ให้สัญชาติแก่บุคคลทุกคนที่เกิดในสหรัฐอเมริกาและรับประกัน “การคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน”
การต่อสู้ด้วยกฎหมายในคดีเพลสซี่กับเฟอร์กูสัน
คดีนี้เริ่มต้นการพิจารณาในศาลของรัฐลุยเซียนา โดยผู้พิพากษาจอห์น ฮาวาร์ด เฟอร์กูสัน (John Howard Ferguson) ตัดสินรับรองกฎหมายดังกล่าว เพลสซี่ถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกปรับ จากนั้นคดีได้ถูกนำขึ้นสู่ศาลฎีกาแห่งรัฐลุยเซียนา ซึ่งก็ยังคงตัดสินยืนตามศาลของรัฐ ในที่สุด คดีก็ถูกนำขึ้นสู่ศาลสูงของสหรัฐอเมริกาในปี 1896
การตัดสินของศาลในคดีเพลสซี่กับเฟอร์กูสัน
วันที่ 18 พฤษภาคม 1896 ศาลสูงของสหรัฐมีคำตัดสินด้วยเสียง 7 ต่อ 1 ไม่เห็นด้วยกับเพลสซี่ ผู้พิพากษาเฮนรี บิลลิงส์ บราวน์ (Henry Billings Brown) อ่านคำตัดสินของฝ่ายเสียงข้างมาก ซึ่งมีประเด็นสำคัญหลายประการดังนี้
- ศาลวินิจฉัยว่า “กฎหมายรถแยก” มิได้ละเมิดรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 13 เนื่องจากไม่ได้เป็นการนำระบบทาส หรือการเกณฑ์แรงงานโดยไม่สมัครใจกลับมาใช้
- เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 14 ศาลโต้แย้งว่า แม้ว่าบทบัญญัตินี้ มีเจตนาที่จะรับประกันความเท่าเทียมกันของทั้งสองเชื้อชาติตามกฎหมาย แต่ไม่ได้มีเจตนาที่จะยกเลิกการแบ่งแยกตามสีผิวหรือบังคับใช้ความเท่าเทียมกันทางสังคมที่เป็นไปตามธรรมชาติอยู่แล้ว กฎหมายไม่สามารถเข้าไปบังคับได้ ซึ่งแตกต่างจากความเท่าเทียมกันทางการเมือง
- ศาลได้นำเสนอหลักการ “แบ่งแยกแต่เท่าเทียมกัน (the separate but equal doctrine)” โดยระบุว่าการแบ่งแยกไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ ตราบใดที่สิ่งอำนวยความสะดวกที่รัฐจัดให้คนแต่ละเชื้อชาติมีความเท่าเทียมกัน
- คำตัดสินของฝ่ายเสียงข้างมากเสนอแนะว่า หากมีความรู้สึกด้อยค่าใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่แยกกัน นั่นเป็นเพราะคนเชื้อชาติผิวสีเลือกที่จะตีความเช่นนั้นเอง
ผู้คัดค้านเพียงหนึ่งเดียว
อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาจอห์น มาร์แชล ฮาร์แลน (John Marshall Harlan) เป็นผู้คัดค้านเพียงคนเดียวของคณะผู้พิพากษา คำคัดค้านอันทรงพลังของเขาโต้แย้งว่ารัฐธรรมนูญนั้นไม่แบ่งแยกสีผิว และสหรัฐอเมริกาก็ไม่มีระบบชนชั้น เขากล่าวอย่างมีลางสังหรณ์ไปถึงอนาคตว่า “การบิดเบือนไปแบบน้ำขุ่นๆ ของสิ่งอำนวยความสะดวกที่เรียกว่า “เท่าเทียมกัน” จะไม่สามารถหลอกใครได้ และจะไม่สามารถชดเชยความผิดที่ได้กระทำในวันนี้ได้”
ผลกระทบและสิ่งที่ตามมาจากคดีเพรสซี่กับเฟอร์กูสัน
คำตัดสินในคดีเพลสซี่กับเฟอร์กูสัน มีผลกระทบต่อสังคมของคนอเมริกันอย่างกว้างขวางและยาวนานหลายทศวรรษ เนื่องจากการตัดสินครั้งนี้ทำให้
- การแบ่งแยกเป็นสิ่งถูกกฎหมาย คำตัดสินนี้ให้การรับรองทางกฎหมายสำหรับการแบ่งแยกเชื้อชาติ จนนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายจิม โครว์ ซึ่งมีบทบัญญัติที่กดขี่คนผิวสี ให้แพร่หลายทั่วภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา
- เกิดหลักการ “แบ่งแยกแต่เท่าเทียมกัน” หลักการที่เป็นผลจากคดีของเพรสซี่นี้กลายเป็นผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อสังคมของคนอเมริกัน เพราะมันได้กลายเป็นพื้นฐานทางกฎหมายสำหรับการแบ่งแยกในสถานที่สาธารณะ รวมถึงโรงเรียน ระบบขนส่ง ห้องน้ำ และน้ำดื่ม ซึ่งในทางปฏิบัติ สถานที่ซึ่งจัดให้สำหรับชาวอเมริกันผิวดำมักจะด้อยกว่าของคนผิวขาวเสมอ
- การเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบ การตัดสินดังกล่าวได้ทำให้เกิดการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบที่แท้จริง โดยอนุญาตให้รัฐและธุรกิจเอกชนสามารถใช้วิธีการเลือกปฏิบัติต่อชาวอเมริกันผิวดำ โดยได้รับการอนุมัติจากศาลสูงสุดของประเทศ
- การถดถอยของสิทธิพลเมือง การตัดสินดังกล่าวเป็นการถดถอยที่สำคัญสำหรับขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมือง โดยมีผลทำให้ความก้าวหน้าและพัฒนาการหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงยุคการฟื้นฟูเป็นโมฆะ
- ผลกระทบทางสังคมในระยะยาว การตัดสินดังกล่าวช่วยฝังรากลึกในการแบ่งแยกเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติในสังคมอเมริกันมานานกว่าครึ่งศตวรรษ
- บรรทัดฐานทางกฎหมาย คดีเพรสซี่กับเฟอร์กูสัน ได้สร้างบรรทัดฐานที่นำมาใช้เป็นเหตุผลในการออกกฎหมายและการปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติอื่นๆ อีกมากมาย
การกลับคำตัดสินในคดีของเพลสซี่
บรรทัดฐานทางกฎหมายจากผลการตัดสินในคดีของเพรสซี่ได้ถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องกว่าครึ่งศตวรรษ จนกระทั่งในปี 1954 ในคำตัดสินคดีสำคัญ บราวน์กับคณะกรรมการการศึกษา (Brown v. Board of Education) ศาลสูงของสหรัฐอเมริกา จึงได้พลิกคำตัดสิน “แบ่งแยกแต่เท่าเทียมกัน” ที่คำตัดสินคดีของเพลสซี่ ได้วางรากฐานไว้ คำตัดสินในคดีของบราวน์ ระบุว่าสถานศึกษาที่แยกจากกันนั้นไม่เท่าเทียมกันโดยเนื้อแท้ ซึ่งนำไปสู่การยกเลิกการแบ่งแยกเชื้อชาติและนำไปสู่การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองยุคใหม่
บทสรุปในคดีเพลสซี่กับเฟอร์กูสัน
คดีเพลสซี่กับเฟอร์กูสัน ถือเป็นหนึ่งในคำตัดสินที่น่าอับอายที่สุดในประวัติศาสตร์ของศาลสูงของสหรัฐอเมริกา คำตัดสินนี้แสดงให้เห็นถึงอำนาจของศาลในการกำหนดความเป็นไปของสังคม และอันตรายของการใช้กฎหมายที่เกิดจากอคติ คดีนี้จึงเป็นเครื่องเตือนใจที่ชัดเจนถึงการต่อสู้ของอเมริกากับความไม่เท่าเทียมกันทางเชื้อชาติและการเดินทางอันยาวนานเพื่อสิทธิพลเมือง การพลิกคำตัดสินในที่สุดในคดี บราวน์กับคณะกรรมการการศึกษา ถือเป็นจุดเปลี่ยนในกฎหมายและสังคมอเมริกัน
คดีบราวน์กับคณะกรรมการการศึกษาแห่งโทพีกา (Brown v. Board of Education of Topeka : 1954)
คดีนี้รวมเอาคดีฟ้องร้องหลายคดีที่ท้าทายการแบ่งแยกเชื้อชาติในโรงเรียนของรัฐ โจทก์อ้างว่าการจัดการศึกษาแบบ “แบ่งแยกแต่เท่าเทียมกัน” นั้นไม่มีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงมาตั้งแต่ต้น
การพิจารณาคดีและ คำวินิจฉัยของศาล สูง แห่งสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของหัวหน้าผู้พิพากษา เอิร์ล วอร์เรน (Earl Warren) มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการแบ่งแยกเชื้อชาติในโรงเรียนรัฐบาลที่กำหนดโดยรัฐนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลวินิจฉัยว่า “สถานศึกษาที่แยกกันนั้น โดยเนื้อแท้แล้วไม่มีความเท่าเทียมกัน”
ความสำคัญของคำตัดสินนี้คือ มันได้ล้มล้างคำตัดสินในคดี เพรสซี่กับเฟอร์กูสัน รวมถึงหลักกฎหมาย “แบ่งแยกแต่เท่าเทียมกัน” และเปิดทางสู่การยกเลิกการแบ่งแยกเชื้อชาติ คำตัดสินนี้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญของขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมือง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสังคมอเมริกันในช่วงทศวรรษ 1960
คดีบราวน์กับคณะกรรมการการศึกษา เป็นคดีสำคัญอีกคดีหนึ่งของศาลสูงสหรัฐอเมริกาที่ตัดสินในปี 1954 คำตัดสินนี้ได้ล้มล้างหลักการ “แบ่งแยกแต่เท่าเทียมกัน” ซึ่งถือกำเนิดจากคดี เพลสซี่กับเฟอร์กูสันในปี 1896 โดยประกาศว่าการแบ่งแยกเชื้อชาติในโรงเรียนรัฐบาลที่กำหนดโดยรัฐนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ คำตัดสินนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมือง เปิดทางสู่การบูรณาการและท้าทายพื้นฐานทางกฎหมายสำหรับการแบ่งแยกในสถานที่สาธารณะทั้งหมด
ภูมฺิหลังของคดีบราวน์กับคณะกรรมการการศึกษา
ในช่วงต้นทศวรรษ 1950 การแบ่งแยกเชื้อชาติในโรงเรียนของรัฐเป็นเรื่องปกติทั่วอเมริกา โดยเฉพาะในภาคใต้ สิ่งนี้ถูกอ้างความชอบธรรมด้วยหลักการ “แบ่งแยกแต่เท่าเทียมกัน” จากคดี เพรสซี่กับเฟอร์กูสัน ซึ่งอนุญาตให้มีการแบ่งแยกเชื้อชาติได้ ตราบใดที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเชื้อชาติต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งในความเป็นจริง โรงเรียนสำหรับเด็กผิวสีมักได้รับเงินทุนน้อยกว่า และด้อยกว่าโรงเรียนสำหรับเด็กผิวขาว
สมาคมแห่งชาติเพื่อความก้าวหน้าของคนผิวสี (National Association for the Advancement of Colored People : NAACP) ซึ่งได้ดำเนินงานมาหลายทศวรรษเพื่อท้าทายการแบ่งแยกเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติ พวกเขาได้พัฒนากลยุทธ์ในการโจมตีการแบ่งแยกโรงเรียนรัฐบาล โดยเชื่อว่าการศึกษาเป็นสนามรบที่สำคัญสำหรับสิทธิพลเมือง
สำหรับคดีบราวน์กับคณะกรรมการการศึกษานั้น ที่จริงแล้วเป็นการรวบรวมห้าคดีที่แยกกันมาอยู่ภายใต้ชื่อเดียวคือ
- Brown v. Board of Education of Topeka (แคนซัส)
- Briggs v. Elliott (เซาท์แคโรไลนา)
- Davis v. County School Board of Prince Edward County (เวอร์จิเนีย)
- Gebhart v. Belton (เดลาแวร์)
- Bolling v. Sharpe (วอชิงตัน ดี.ซี.)
คดีเหล่านี้ ทั้งหมดล้วนท้าทายความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแบ่งแยกเชื้อชาติในโรงเรียนของรัฐ คดีหลักคือ บราวน์กับคณะกรรมการการศึกษา โดยโอลิเวอร์ บราวน์ (Oliver Brown) ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการการศึกษาเมืองโทพีกา รัฐแคนซัส ในนามของลินดาบุตรสาวของเขา ลินดาต้องเดินหกช่วงตึกไปยังป้ายรถประจำทางเพื่อขึ้นรถไปโรงเรียนที่จัดไว้ให้สำหรับคนผิวสีซึ่งอยู่ไกลออกไปอีกมาก ในขณะที่โรงเรียนสำหรับคนผิวขาวอยู่ห่างจากบ้านของเธอเพียงเจ็ดช่วงตึกเท่านั้น
การต่อสู้ด้วยกฎหมายของบราวน์
คดีถูกนำเสนอต่อศาลสูงครั้งแรกในปี 1952 ศาลมีความเห็นแยกออกจากกันและขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่ในปี 1953 โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 14 มีเจตนาที่จะห้ามการแบ่งแยกในโรงเรียนรัฐบาลหรือไม่
ในช่วงเวลานั้น หัวหน้าผู้พิพากษาเฟรด วินสัน (Fred Vinson) ซึ่งมีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการกลับคำพิพากษาในคดีเพรสซี่ ได้เสียชีวิตลง หัวหน้าผู้พิพากษาเอิร์ล วอร์เรน (Earl Warren) จึงได้เข้ามารับตำแหน่งแทน ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการบรรลุมติเอกฉันท์ในการต่อต้านการแบ่งแยกเชื้อชาติ
คำตัดสินของศาลในคดีของบราวน์กับคณะกรรมการการศึกษา
วันที่ 17 พฤษภาคม 1954 หัวหน้าผู้พิพากษาเอิร์ล วอร์เรน ได้อ่านคำตัดสินเป็นเอกฉันท์ของศาล ประเด็นสำคัญของคำตัดสินประกอบด้วย
- ศาลวินิจฉัยว่า “สถานศึกษาที่แยกกันนั้นไม่มีความเท่าเทียมกันโดยธรรมชาติ” ซึ่งเป็นการล้มล้างคดีเพลสซี่กับเฟอร์กูสัน โดยตรง
- ศาลพบว่าการแบ่งแยกในโรงเรียนรัฐบาลละเมิดบทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน (Equal Protection Clause) ของรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 14
- คำตัดสินเน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาในสังคมสมัยใหม่และผลเสียของการแบ่งแยกที่มีต่อเยาวชนที่เป็นชนกลุ่มน้อย
- ศาลไม่ได้อาศัยเพียงแค่บรรทัดฐานทางกฎหมายเท่านั้น แต่ยังอ้างอิงถึงงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายทางจิตวิทยาที่เกิดจากการแบ่งแยก
การนำผลของคำวินิจฉัยไปปฏิบัติ
ในปี 1955 ที่รู้จักกันในนามบราวน์ 2 จากถ้อยคำในคำสั่งของศาลที่ให้มีการยกเลิกการแบ่งแยก “ด้วยความรอบคอบโดยเร็ว” (all deliberate speed) คำพูดนี้ค่อนข้างคลุมเครือ ทำให้บางรัฐสามารถใช้เป็นข้ออ้างในการชะลอการบูรณาการ หรือการทำให้เป็นโรงเรียนที่รวมนักเรียนทุกเชื้อชาติอยู่ด้วยกัน ออกไปอีกเป็นเวลาหลายปี
ผลกระทบและสิ่งที่ตามมา
- บรรทัดฐานทางกฎหมาย คดีบราวน์กับคณะกรรมการการศึกษา ได้ล้มล้างหลักการ “แบ่งแยกแต่เท่าเทียมกัน” และกลายเป็นรากฐานทางกฎหมายสำหรับการยกเลิกการแบ่งแยกที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะในโรงเรียน แต่รวมไปถึงการให้บริการสาธารณะอื่นๆทุกประเภทด้วย
- เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาของขบวนการสิทธิพลเมือง คำตัดสินนี้เพิ่มพลังให้กับขบวนการที่มีกิจกรรมเพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมืองและสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการท้าทายการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติต่อไป
- การต่อต้าน รัฐทางใต้และนักการเมืองหลายคนต่อต้านคำตัดสินนี้อย่างรุนแรง นำไปสู่ช่วงเวลาที่รู้จักกันในชื่อ “การต่อต้านอย่างมหาศาล(Massive Resistance)”
- การเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา เมื่อเวลาผ่านไป คำตัดสินดังกล่าวส่งผลให้มีการผนวกรวมโรงเรียนของรัฐทั่วประเทศ แม้ว่ากระบวนการนี้จะค่อนข้างล่าช้าและเผชิญกับการต่อต้านก็ตาม ตัวอย่างของการเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงเช่น กรณีของรูบี บริดเจส (Ruby Bridges) นักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ที่ศาลต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้ความคุ้มครองตลอดเวลาที่อยู่ในโรงเรียน หรือกรณี Little Rock Nine ที่รัฐบาลกลางโดยคำสั่งของประธานาธิบดี ต้องส่งกองกำลังทหารเข้ามาคุ้มครองจนเกือบเป็นข้อขัดแย้งกับรัฐที่ตั้งของโรงเรียน
- ผลกระทบทางสังคมที่กว้างขึ้น คดีของบราวน์ ได้ท้าทายระบบการแบ่งแยกตามเชื้อชาติทั้งหมดและสร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มที่ถูกกีดกันอื่นๆ ต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเขาเช่นกรณี Montgomery Bus Boycott ในปี 1955 และกรณี Sit-in movement ในปี 1960 เป็นต้น
- อิทธิพลระหว่างประเทศ คำตัดสินดังกล่าวทำให้ภาพลักษณ์ของอเมริกาในต่างประเทศดีขึ้นในช่วงสงครามเย็น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อความเท่าเทียมกัน
มรดกในระยะยาว
แม้ว่าคดีบราวน์กับคณะกรรมการการศึกษา จะเป็นชัยชนะที่สำคัญสำหรับสิทธิพลเมือง แต่คำมั่นสัญญาของคดีเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันทางการศึกษายังไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเต็มที่ โรงเรียนหลายแห่งยังคงแยกกันอยู่เนื่องจากรูปแบบการอยู่อาศัยและปัจจัยทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังคงเป็นสัญลักษณ์ที่ทรงพลังของศักยภาพของกฎหมายที่จะส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคมและความเท่าเทียมกัน
บทสรุปจากคดีบราวน์กับคณะกรรมการการศึกษา
คดีบราวน์กับคณะกรรมการการศึกษา ถือเป็นหนึ่งในคำตัดสินที่สำคัญที่สุดของศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกาในประวัติศาสตร์ การที่ศาลประกาศว่าสถานศึกษาที่แยกจากกันนั้นไม่เท่าเทียมกันโดยเนื้อแท้ ถือเป็นการต่อต้านขบวนการเหยียดเชื้อชาติโดยตรง และปูทางไปสู่ความก้าวหน้าด้านสิทธิพลเมืองในทศวรรษต่อๆ มา แม้ว่าในระยะเริ่มแรกการนำไปปฏิบัติจะเผชิญกับความท้าทายและเป้าหมายบางส่วนยังไม่บรรลุผล แต่คดีของบราวน์ ได้เปลี่ยนแปลงพื้นฐานภูมิทัศน์ทางกฎหมายและสังคมของคนอเมริกัน โดยยืนยันหลักการที่ว่าชาวอเมริกันทุกคนไม่ว่าจะมีเชื้อชาติใดล้วนมีสิทธิได้รับการคุ้มครองที่เท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย ในอีกทางหนึ่งก็เป็นการเรียกคืนศักดิ์ศรีและมาตรฐานของศาลเอง ให้เป็นที่ศรัทธาเชื่อมั่นในหมู่ประชาขนโดยทั่วไปยิ่งขึ้นไปอีก
คดีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของกฎหมายอเมริกันที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงผลกระทบอันลึกซึ้งที่เกิดขึ้นกับสังคม เน้นย้ำให้เห็นว่าคำตัดสินของศาลสูงสามารถสะท้อนและกำหนดบรรทัดฐานทางสังคมได้อย่างไร ซึ่งบางครั้งอาจส่งผลกระทบในวงกว้างและเป็นเวลายาวนาน
ความทรงจำของประชาชนสู่บทเพลงประทับใจ
ในประเทศที่เจริญแล้ว คำตัดสินของศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลสูงของประเทศ จะส่งผลกระทบต่อประชาชน สังคม และความมั่นคงของรัฐ หากคำตัดสินเป็นคุณกับคนทั้งประเทศ ผู้คนก็จะให้ความชื่นชมสรรเสริญ แต่ในทางกลับกัน หากคำตัดสินนั้นมาจากอคติ เพื่อผลประโยชน์หรือความต้องการของคนเพียงบางกลุ่ม ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ ติติงในข้อเท็จจริงได้อย่างเสรี เนื่องจากพวกเขาได้รับผลกระทบโดยตรง สิ่งเหล่านี้จะถูกบันทึกไว้เป็นเอกสารที่คนรุ่นหลังสามารถนำมาศึกษาได้ในสถานที่สาธารณะเช่นห้องสมุด หอจดหมายเหตุ ทั้งของรัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งถ้าเป็นในปัจจุบันก็จะเก็บบันทึกไว้ในแฟ้มดิจิทัลรูปแบบที่ต่างกันไป และจะถูกนำขึ้นไว้บนอินเทอร์เน็ต
สำหรับภาคประชาชน สิ่งเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นความประทับใจ ความผิดหวัง อึดอัด คับข้องใจ ไปจนถึงความโกรธเกรี้ยวหรือความเสียใจ ก็ถูกบันทึกไว้ในรูปแบบของศิลปะต่างๆเช่น บทกวี บทเพลง หรืออื่นๆ
สองปีหลังการตัดสินคดีบราวน์กับคณะกรรมการการศึกษา พีท ซีเกอร์ (Pete Seeger) นักร้องเพลงสไตล์พื้นบ้าน (folk song) และนักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวอเมริกัน ได้บันทึกเสียงเพลงที่ชื่อว่า Black And White เพลงนี้เขียนในปี 1954 โดยเดวิด ไอ. อาร์คินและเอิร์ล โรบินสัน (David I. Arkin and Earl Robinson) มีเนื้อหาถึงการแบ่งแยกเชื้อชาติผิวสีว่า สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และในทางธรรมชาติก็เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว โดยได้รับแรงบันดาลใจจากคำตัดสินของศาลในคดีนี้ คำร้องส่วนหนึ่งได้กล่าวถึงเนื้อหาและข้อเท็จจริงเช่น
The schoolroom doors were closed so tight
ประตูห้องเรียนถูกปิดสนิท หมายถึงเด็กผิวดำไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนของเด็กผิวขาวได้โรงเรียนของเด็กผิวขาวกับโรงเรียนของเด็กผิวดำต้องสร้างแยกจากกันไม่สามารถเรียนร่วมกันได้
And now a child can understand
This is the law of all the land all the land
และตอนนี้เด็กๆจะได้เข้าใจแล้วว่ามันเป็นกฎหมายของทั้งแผ่นดิน มีความหมายถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ทุกรัฐต้องเคารพและปฏิบัติตาม
Nine judges all, set down their names
To end the years and years of shame
Years of shame
ผู้พิพากษาทั้งเก้า ได้จารึกชื่อของพวกท่าน
เพื่อยุติห้วงเวลาแห่งความน่าอับอาย
เป็นการสดุดีถึงคำพิพากษาในคดีของบราวน์ ส่วนคำว่าห้วงเวลาแห่งความน่าอับอาย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือห้วงเวลาแห่งความอัปยศ (years of shame) นั้นหมายถึงระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษแห่งความขัดแย้งและเกลียดชังกันระหว่างคนในสังคม ที่เป็นผลพวงจากคำตัดสินในคดีเพลสซี่กับเฟอร์กูสัน
their robes were black
Their heads were white
เสื้อคลุมของพวกเขาเป็นสีดำ
ศีรษะของพวกเขาเป็นสีขาว
เป็นสัญลักษณ์แทนผู้พิพากษา เนื่องจากเสื้อคลุมหรือชุดครุยที่ศาลสวมในขณะพิจารณาคดีมักเป็นสีดำ ส่วนคำว่าศีรษะสีขาวหมายถึงวิกที่ผู้พิพากษาสวมใส่ ซึ่งศาลของสหรัฐฯเลิกสวมวิกมาตั้งแต่ต้นศวรรษที่ 19 แล้วเพื่อแสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาเป็นสาธารณะรัฐและเป็นประเทศประชาธิปไตย
บทเพลง Black And White ของพีท ซีเกอร์แม้ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร แต่ก็ถูกนำมาบันทึกใหม่อีกหลายครั้งโดยนักร้องอื่น ซึ่งก็ยังคงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเช่นกัน จนกระทั่งในปี 1972 วงดนตรีชื่อ Three Dog Night ได้นำมาบันทึกใหม่โดยมีการตัดทอนเนื้อร้องบางส่วนออกไป บทเพลงของพวกเขาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนสามารถขึ้นถึงอันดับ 1 ในชาร์ตเพลงป๊อปของสหรัฐอเมริกา
สารส่งท้ายจากผู้เขียน
ศาลถือเป็นสถาบันของสังคม ต่างจากองค์กรทั่วไป เพราะคำว่าสถาบันจะต้องยึดโยงกับประชาชนของรัฐ (ส่วนในทางปฏิบัติจะเป็นอย่างไรคงต้องดูที่บริบทของระบอบการปกครอง) และทุกการกระทำต้องรับผิดชอบต่อผู้คนทั้งประเทศ คำพิพากษา คำวินิจฉัย หรือแม้คำแนะนำของศาลในมุมมองและสายตาของประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่าท่าน เป็นเสมือนผู้ให้ ผู้ธำรงความยุติธรรมเพื่อนำความสันติ ความมั่นคง และความปลอดภัยมาสู่สังคม เป็นเทพผู้ประสาทความยุติธรรม หรือเป็นเพียงแค่ร่างทรงของทรราช ก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของพวกท่านทั้งหลายนั่นเอง
บทความนี้ใช้ Claude AI ช่วยในการค้นหาและเรียบเรียงข้อมูลบางส่วน
ลิงก์เพื่อการอ้างอิง
Dred Scott v. Sandford
https://en.wikipedia.org/wiki/Dred_Scott_v._Sandford
American Civil War
https://en.wikipedia.org/wiki/American_Civil_War
Plessy v. Ferguson
https://en.wikipedia.org/wiki/Plessy_v._Ferguson
Brown v. Board of Education
https://en.wikipedia.org/wiki/Brown_v._Board_of_Education
Leave a Reply