ดนตรีกับ การเปลี่ยนแปลงสังคม
เมื่อคืนก่อนตอนที่นั่งเปิดเพลงจากยูทูปฟังหลังเสร็จสิ้นภารกิจประจำวันเหมือนทุกๆวัน บังเอิญเห็นคลิปวิดีโอเพลง “Wind of Change” ของวงสกอร์เปียนส์ (Scorpions) สะดุดตาที่เห็นภาพปก (thumbnail) เป็นรูปธงไทยและยังมีคำบรรยายเป็นภาษาไทยด้วยเลยลองเข้าไปเปิดฟัง ที่จริงมันก็คือเพลงต้นฉบับของสกอร์เปียนส์นั่นแหละครับแล้วคนไทยคนหนึ่งแกเอาคลิปวิดีโอกับภาพนิ่งของตัวเองมาตัดต่อให้เป็นมิวสิควิดิโอประกอบเพลง ภาพที่เอามานอกจากธงไทยที่โบกสะบัดเป็นพื้นหลัง ยังมีภาพกิจกรรมการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่และน้องๆนักเรียนนักศึกษา ที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของพวกเขาเมื่อปี 2020 เมื่อประสานกับความหมายของบทเพลงมันทำให้คนฟังสัมผัสได้ถึงสัญญาณของ การเปลี่ยนแปลงสังคม ที่กำลังเกิดขึ้น ดุจดั่งความมายของบทเพลงตามที่ผู้ประพันธ์ตั้งใจสื่อกับผู้ฟังมาตั้งแต่ต้น
ในความเห็นส่วนตัว “Wind of Change” เป็นเพลงที่ดีที่สุดของสกอร์เปียนส์ แม้จะเป็นแนวบัลลาดเรียบๆ เย็นๆเนื้อหาไม่ซับซ้อนแต่ฟังแล้วให้อารมณ์ความรู้สึกถึงสัญญาณความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ผู้แต่งต้องการสื่อสารได้เป็นอย่างดี ด้วยการใช้ภาษาเรียบง่ายตรงไปตรงมาผู้ฟังราวกับมองทะลุเหตุการณ์ไล่เลียงลำดับได้แจ่มชัด เสียงผิวปากเยือกเย็นทั้งตอนเริ่มต้นและท่อนท้ายของเพลงสัมผัสได้ถึงกลิ่นอาย ผิวกายและเสียงของสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ลึกลงไปถึงภายในจิตใจ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยกล่าวว่า เพลงนี้เป็นแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติหรือ การเปลี่ยนแปลงสังคมในหลายเหตุการณ์ ทั้งการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินและสหภาพโซเวียต รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอีกหลายครั้งหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคิดว่าคงมีทั้งที่เป็นไปไม่ได้และทั้งที่อาจมีส่วนที่เป็นจริง ซึ่งเราคงต้องมาวิเคราะห์กันครับ
บทกวีหรือบทเพลงจะสร้างแรงบันดาลใจอย่างไรให้กับผู้คนหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่แน่ๆการประพันธ์บทเพลงหรือบทกวีผู้แต่งย่อมได้รับแรงบันดาลใจบางอย่างจากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ประทับใจ “Wind of Change” ก็เช่นเดียวกัน มีผู้ให้ความเห็นหลายความเห็นใน songfacts.com กล่าวว่า เคลาส์ ไมน์เนอ (Klaus Meine) นักร้องนำของวงสกอร์เปียนส์และเป็นผู้แต่งเพลงนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการที่เข้าร่วมแสดงคอนเสิร์ตที่เลนินกราดในปี 1988 และที่มอสโกในปี 1989 ความกระตือรือร้น จำนวนผู้ชมที่มีมากจนน่าประหลาดใจ และการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ชมอย่างมีนัยสำคัญภายในเวลาเพียงปีเดียวเท่านั้น ทำให้เขาและเพื่อนร่วมวงรับรู้ถึงสัญญานแห่ง การเปลี่ยนแปลงสังคม ครั้งใหญ่ว่ากำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานอย่างแน่นอน และในบางตอนของเนื้อเพลงก็จะมีทั้งสถานที่และสัญลักษ์ของความเป็นรัสเซียเช่น สวนสาธารณะกอร์กี้ (Gorky Park), แม่น้ำมอสควา (Moskva River), รวมถึงเครื่องดนตรีพื้นเมืองของรัสเซียที่เรียกว่าบาลาไลกา (Balalaika) ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีคล้ายกีตาร์แต่มีสามสาย นั่นคงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าบทเพลงนี้มีที่มาจากความเปลี่ยนแปลงของสหภาพโซเวียตจริง
ร็อคหลังม่านเหล็ก
ในปี 1988 สกอร์เปี้ยนส์ วงดนตรีร็อคจากเยอรมันตะวันตกมีโอกาสเข้ามาแสดงสดที่ Sport-an-Concert Complex ในเลนินกราด (Leningrad ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Saint Petersburg) โดยแสดงติดต่อกันถึง 10 รอบ (17-26 เมษายน 1988) มีแฟนเพลงเข้าชมคืนละไม่ต่ำกว่า 15,000 คนทุกคืน สกอร์เปียนส์ซึ่งเป็นวงดนตรีจากฝั่งตะวันตกวงแรกๆที่มีโอกาสมาทำการแสดงในเขตแดนของสหภาพโซเวียตได้รับการต้อนรับจากผู้ชมอย่างหนาแน่นจนต้องมีเจ้าหน้าที่ KGB เข้ามาให้ความสะดวกในการเข้าออกของสมาชิกวงเพื่อกันไม่ให้แฟนเพลงชาวรัสเซียเข้ามาใกล้ชิดมากจนเกินไป
ในปีถัดมาวงดนตรีร็อคชื่อดังจากทั้งยุโรปและอเมริกา(*)ก็มีโอกาสข้ามผ่านม่านเหล็ก (Iron Curtain) ที่แข็งแกร่งที่สุดในอดีตเพื่อไปแสดงสดให้เพื่อนพ้องในสหภาพโซเวียตได้ชื่นชมกัน เมื่อมีการจัดเทศกาลดนตรีสันติภาพมอสโก (Moscow Music Peace Festival) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันครั้งเดียวของวงดนตรีและศิลปินที่มีชื่อเสียงเปิดการแสดงในกรุงมอสโก เมื่อวันที่ 12-13 สิงหาคม 1989 เพื่อส่งเสริมสันติภาพของโลกและสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติในการต่อสู้กับสงครามยาเสพติดและแอลกอฮอล์ในรัสเซีย นี่คือส่วนหนึ่งของยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสหภาพโซเวียต
ประมาณกันว่ามีเยาวชนและคนหนุ่มสาวชาวรัสเซียจากทั่วทุกสารทิศเข้าร่วมงานนี้ราว 120,000 – 220,000 คน ทุกคนแสดงออกถึงความกระตือรือร้นในการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ด้วยดวงตาที่กระหายเสรีภาพอย่างที่เพื่อนในโลกเสรีเขามีกัน สมาชิกวงสกอร์เปียนส์เป็นชาวเยอรมันจึงมีความใกล้ชิดและรับรู้ความต้องการของคนเหล่านี้ได้ดี พวกเขาไม่ใช่แค่ได้รับประสบการณ์จากการแสดง แต่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของคนหนุ่มสาวที่นั่นเช่นเดียวกัน เคลาส์ ไมน์เนอได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Rolling Stone ว่า “พวกเขาเหมือนนั่งเรือไปตามแม่น้ำมอสควา และคนที่อยู่บนเรือลำนั้นมีทั้งวงดนตรีทุกวง นักข่าวเอ็มทีวี และทหารกองทัพแดง… มันเป็นช่วงเวลาที่สร้างแรงบันดาลใจสำหรับพวกเขา มันเหมือนกับว่าโลกทั้งใบอยู่ในเรือลำนั้นที่พูดภาษาเดียวกัน นั่นคือดนตรี” และยังได้เสริมอีกว่า “เมื่อสกอร์เปียนส์เริ่มการแสดง บรรดาทหารกองทัพแดงและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ทำหน้าที่อยู่ ทุกคนหันหน้ามาทางเวทีแล้วเริ่มโยนหมวกและเสื้อแจ็กเก็ตของพวกเขาไปบนอากาศ มันวิเศษมากราวกับโลกทั้งใบเปลี่ยนไปต่อหน้าต่อตา เด็กหนุ่มสาวชาวรัสเซียเหล่านั้นรู้สึกได้ว่ายุคของสงครามเย็นคงสิ้นสุดลงในไม่ช้า นั่นคือสิ่งที่ผมอยากจะบอกไปในบทเพลง”
พลังแห่งดนตรีและคนหนุ่มสาว
ถ้าจะถามว่าร็อคคอนเสิร์ตให้อารมณ์ความรู้สึกระหว่างผู้เข้ามีส่วนร่วมอย่างไรคงอธิบายยาก สำหรับตัวเองเคยมีประสบการณ์ มีส่วนร่วมอยู่ในบรรยากาศแบบนั้นหลายครั้งจึงเข้าใจถึงความรู้สึกและพลังของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของฝูงชนชาวร็อคได้ดี จำได้ถึงอารมณ์เก่าๆสมัยยังเรียนอยู่ที่รามคำแหง ตอนที่วงสกอร์เปียนส์เข้ามาเปิดการแสดงสดครั้งแรกในประเทศไทยที่อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก ถ้าจำไม่ผิดประมาณกลางปี 1984 กับเพื่อนๆหลายคนไปยืนตาละห้อยอยู่ประตูหลังเวทีเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าตั๋ว หลังคอนเสิร์ตเริ่มได้ไม่กี่เพลงพวกแฟนเพลงที่มีใจเต็มร้อยแต่ตังค์มีน้อยทั้งหลายที่ออกันอยู่พากันแหกประตูวิ่งเข้าไปด้านใน พวกเราก็เลยจำใจวิ่งตามเข้าไปด้วยไม่มีเจตนาเข้าไปดูฟรีแต่อย่างใด จะว่าไปแล้วพวกผมค่อนข้างโชคดีเพราะในปีนั้นได้มีส่วนเข้าร่วมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ร่วมกับแฟนเพลงร็อคสไตล์ฮาร์ดร็อคและเฮฟวี่เมทัลชื่อดังจากยุโรปถึงสองวงคือ Def Leppeard (อังกฤษ) ในตอนต้นปี และ Scorpions (เยอรมันนี) ในช่วงกลางปี (ที่จริงวงดนตรีพวกนี้เขามีแนวเพลงหลากหลายสไตล์ หวานๆซึ้งๆแนวบัลลาดก็มีไม่ใช่แหกปากตะโกนเสียงดังๆเท่านั้น)
ประสบการณ์เหล่านี้มันทำให้เราเข้าใจคำว่าพลังของดนตรีและพลังของคนรุ่นใหม่ ประวัติศาสตร์สังคมโลกได้บันทึกเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาจากความเสื่อมถอยของระบบ-ระบอบเก่าๆไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่าโดยเด็กๆและคนหนุ่มสาวต่อเนื่องมาทุกยุคทุกสมัย เมื่อสังคมกำลังคืบคลานสู่จุดต่ำสุด เด็กๆและคนหนุ่มสาวเหล่านี้นี่เองที่จะเป็นผู้จุดประกายนำสังคมเพื่อฉุดรั้งไม่ให้ล่มสลายลงไป พร้อมทั้ง เปลี่ยนแปลงสังคม ไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ในขณะที่บรรดาผู้ใหญ่และผู้อาวุโสหัวก้าวหน้าก็จะทำหน้าที่เป็นเสมือนกำแพงและกองหนุนคอยสนับสนุนและปกป้องอยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็แน่นอนว่าจะต้องถูกต่อต้านจากคนรุ่นเก่าที่สูญเสียผลประโยชน์ ส่วนจะมาก น้อย รุนแรงหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
จริงอยู่ว่าดนตรีและพลังของคนหนุ่มสาวไม่ได้เป็นปัจจัยหลักของ การเปลี่ยนแปลงสังคม แต่มันต้องมีการสะสมของปัญหาทั้งด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ ความเชื่อและวัฒนธรรมที่คนรุ่นก่อนๆปล่อยให้เกิดเป็นปัญหาหมักหมม ไม่ได้รับการแก้ไข ความเห็นแก่ตัวของผู้ปกครองที่หวังเพียงรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของพวกตนไว้ รวมถึงระบบอบการปกครองที่กดขี่ ล้าหลังซึ่งท้ายที่สุดสังคมและประชาชนก็จะไม่ยอมตกอยู่ในสภาพเดิมอีกต่อไป ความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงก็จะตามมา เยาวชนคนหนุ่มสาวมีธรรมชาติของการแข็งขืนต่อต้านหรือเป็นกบฏในตัวอยู่แล้ว เมื่อพวกเขามองไม่เห็นอนาคต จึงมักเป็นคนกลุ่มแรกที่ออกมาต่อต้าน สิ่งที่จะรวมใจคนเหล่านี้ไม่ใช่ความเชื่อทางศาสนาหรือคำสั่งสอนของพ่อแม่หรือผู้ปกครองรัฐ แต่เป็นอุดมการณ์ร่วมที่เป็นสากลผ่านสิ่งที่เรียกว่าดนตรี
ตอนนั้นสกอร์เปียนส์ยังไม่ได้ออกเพลง “Wind of Change” นะครับ เพิ่งมาออกเมื่อต้นปี 1991 (บันทึกเสียงปี 1990) หลังกำแพงเบอร์ลินล่มสลายและเยอรมันรวมประเทศแล้ว ส่วนอดีตสหภาพโซเวียตก็กำลังวุ่นวายทั้งปัญหาเศรษกิจ, การคอรัปชั่น, มาเฟีย, สารพัดปัญหา ที่ผ่านมาระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์โดยการนำของผู้นำทางทหารที่ไม่ประสีประสาในการบริหารประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษกิจ ความด้อยประสิทธิภาพของระบบการรวมศูนย์การผลิต ทำให้รัฐต่างๆต้องการแยกตัวเป็นอิสระ หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ใฝ่หาอิสระภาพและเสรีภาพมากขึ้นทุกขณะ
ดนตรีร็อคเข้ามาเป็นที่นิยมในสหภาพโซเวียตตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1960 มีวงดนตรีร็อคประจำถิ่นของรัสเซียเองในหลายรูปแบบทั้งคลาสสิคร็อค, อัลเทอร์เนทีฟ, พังค์, และเฮฟวี่เมทัลเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นวงใต้ดิน (underground) เนื่องจากขัดต่อแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ หลังนโยบายเปเรสตรอยก้าและกลาสนอสต์ วงดนตรีเหล่านี้มีอิสระและเปิดกว้างมากจนสามารถไปบันทึกเสียงในยุโรปและอเมริกาได้ รวมถึงสามารถเปิดการแสดงได้เช่นเดียวกับวงดนตรีในฝั่งตะวันตก ทางการได้จัดตั้ง “The Leningrad Rock Club” เพื่อให้กลุ่มศิลปินที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเอาผลงานมานำเสนอต่อสาธารณชนได้อย่างเสรีและมันก็ได้เป็นสถานที่เริ่มต้นของกลุ่มร็อคที่มีชื่อเสียงในเวลาต่อมา ดนตรีร็อคจึงเป็นส่วนหนึ่งของเยาวชนคนหนุ่มสาวชาวรัสเซียมาอย่างยาวนานไม่ต่างจากหนุ่มสาวในซีกโลกตะวันตก เพียงแต่ขาดเสรีภาพในการแสดงออกเท่านั้น
นโยบายทางการเมืองกับ การเปลี่ยนแปลงสังคม
ไม่รู้ว่าเป็นความโชคดีหรือเพราะระบอบเก่ามันเน่าจนทานไม่ไหวแล้ว ในตอนนั้นมิคาอิล กอร์บาชอพ (Mikhail Gorbachev) เข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้นำ กอร์บาชอฟเป็นชาวรัสเซียเชื้อสายยูเครนเกิดในครอบครัวชาวนายากจน เคยเป็นแกนนำเพื่อสนับสนุนนโยบายล้างระบอบสตาลินของนิกีต้า ครุสซอฟ จนในที่สุดเติบโตจนได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานาธิบดีซึ่งถือเป็นผู้นำสูงสุดของโซเวียตในขณะนั้น เขาได้ริเริ่มโครงการปฏิรูปและปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจและการเมืองซึ่งกำลังประสบปัญหาอย่างยิ่งขณะนั้นด้วยนโยบาย “เปเรสตรอยก้า” (Perestroika :restructuring) ที่จะเข้ามาปรับเปลี่ยนโครงสร้างทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยในด้านเศรษฐกิจต้องปรับมาสอดคล้องกับสังคมโลกเป็นทุนนิยมมากขึ้น กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถระดมทุนได้ด้วยตนเอง ยกเลิกการผูกขาดโดยรัฐ รวมถึงการปฏิรูประบบราชการ ส่วน “กลาสนอสต์” (Glasnost :openness) จะให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ ให้เสรีภาพแก่สื่อ เสรีภาพทางสังคมและวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น รวมถึงยอมให้มีการตรวจแก้ประวัติศาสตร์ของชาติให้ตรงกับความเป็นจริง โดยหวังว่าจะแก้ไขปัญหาต่างๆและความวุ่นวายทั้งหลายลงได้ แต่ก็สายเกินไปครับ
อย่างไรก็ตามจากวิสัยทัศน์และนโยบายที่ค่อนข้างเปิดกว้างของกอร์บาชอฟ ทำให้คนรุ่นใหม่เกิดมีความหวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น คนหนุ่มสาวเหล่านี้ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะมากขึ้นโดยใช้ดนตรีเป็นสื่อ ซึ่งก่อนหน้านั้นวงดนตรีโดยเฉพาะอย่างยิ่งดนตรีร็อคจากตะวันตกไม่มีโอกาสเข้ามาแสดงหรือแม้แต่การรับฟังเพลงเหล่านี้ก็เป็นเรื่องต้องห้ามเนื่องจากขัดกับหลักการทางวัฒนธรรมของระบอบคอมมิวนิสต์ เปเรสตรอยก้าและกลาสนอสต์ทำให้เกิดการเปิดกว้างและสามารถรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้าไปเผยแพร่ได้ เครมลินให้อิสระกับรัฐในปกครองมากขึ้น คนหนุ่มสาวชาวรัสเซียรวมถึงรัฐอื่นๆของโซเวียตสามารถเปิดฟังเพลงจากวงดนตรีที่พวกเขาชื่นชอบได้อย่างอิสระไม่ต้องหลบๆซ่อนๆอีกต่อไป ที่ผ่านมาในเยอรมันมีวงดนตรีระดับโลกเปิดการแสดงสดติดกำแพงเบอร์ลินฝั่งตะวันตกเพื่อเรียกร้องเสรีภาพให้กับเพื่อนร่วมชาติที่อยู่ในฝั่งตะวันออกหลายครั้ง คนหนุ่มสาวที่อยู่ใต้ปกครองของเผด็จการคอมมิวนิสต์มีโอกาสแค่มารวมกลุ่มชะเง้อมองแสงไฟวับวาบและฟังเสียงกรีดร้องด้วยความสนุกสนานกระหึ่มอยู่หลังกำแพงใหญ่ ด้วยใจที่สั่นระริกพร้อมกับน้ำตาที่เอ่อคลอดวงตาทั้งสองข้างของพวกเขา แต่กระนั้นก็ยังถูกขัดขวาง ปราบปราม จับลากไปกับพื้นถนนและถูกนำตัวไปดำเนินคดี ซึ่งคนหนุ่มสาวในโซเวียตเองรับรู้ถึงเรื่องราวต่างๆเหล่านี้เป็นอย่างดี และเมื่อกำแพงเบอร์ลินล่มสลายในปี 1989 เยอรมันรวมเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้การปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยในตอนปลายปี 1990 จึงเป็นแรงกระตุ้นครั้งสำคัญของพวกเขาที่ปรารถนาให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสหภาพโซเวียตเช่นเดียวกันนั้นบ้าง
ความเป็นมาของสหภาพโซเวียต
สหภาพโซเวียตมีรากฐานมาตั้งแต่การโค่นล้มราชวงศ์โรมานอฟและการเข้ามามีอำนาจของบอลเชวิคในปี 1917 ต่อมาในปี 1922 จึงได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการโดยสนธิสัญญาสหภาพแรงงาน มีรัสเซีย, ยูเครน, เบลารุส, และทรานส์คอเคซัส (ซึ่งต่อมาแยกตัวออกเป็นจอร์เจีย, อาร์เมเนีย, และอาเซอร์ไบจานในปี 1936) เข้าร่วมสู่สหภาพโซเวียตเป็นกลุ่มแรก และได้รับการรับรองโดยเยอรมันนีในปีนั้นเอง ในปี 1924 สหภาพโซเวียตนำรัฐธรรมนูญตามระบอบเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพมาใช้ มีการกำหนดกรรมสิทธิ์ในที่ดินของสาธารณชนและวิธีการผลิต เมื่อเลนินเสียชีวิต โจเซฟ สตาลินเข้ามาเป็นผู้นำ เขาได้นำเอาการปกครองในแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จมาใช้ มีการยึดที่ดินจากเจ้าของที่ดินเป็นของรัฐ ชาวนาและเจ้าของที่ดินที่ร่ำรวยถูกสังหารและยึดทรัพย์หลายล้านครอบครัว ในช่วงปี 1936-1938 ระบอบสตาลินโดยการนำของลีออน ทรอสกี้ได้ทำการกวาดล้างบรรดาบุคคลในกองทัพ, พรรคคอมมิวนิสต์, และรัฐบาลที่ถูกกล่าวหาว่าต่อต้านไปสังหารและจำคุกหลายพันคน ปี 1933 สหรัฐอเมริกาได้ให้การรับรองสหภาพโซเวียต และในปีถัดมาโซเวียตก็ได้เข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ
ในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 1940 กองทัพโซเวียตเข้ายึดครองลิทัวเนีย, ลัตเวีย, และเอสโตเนีย รวมเข้ากับสหภาพโซเวียต โรมาเนียได้ยกเบสซาราเบียและนอร์ทบูโควินาให้แก่สหภาพโซเวียต จัดตั้งเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตมอลโดวา (ปัจจุบันคือสาธารณรัฐมอลโดวา) ในปี 1941 เยอรมันเข้ารุกรานโซเวียตและยึดดินแดนบางส่วนแต่โซเวียตก็สามารถปกป้องมอสโกไว้ได้และทำการรุกกลับ ปี 1943 เยอรมันเริ่มพ่ายแพ้ที่สตาลินกราด และในที่สุดกองทัพแดงและชาติพันธมิตรก็สามารถยึดเบอร์ลินได้เมื่อเดือนพฤษภาคม 1945, 2 กันยายน 1945 สงครามโลกครั้งที่สองยุติลง
มีนาคม 1953 สตาลินเสียชีวิต กุมภาพันธ์ 1956 นิกิต้า ครุสชอฟกล่าวสุนทรพจน์อย่างลับๆ ต่อการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 เพื่อประณามการปกครองแบบเผด็จการและบุคลิกส่วนตัวของสตาลิน 11 มีนาคม 1985 มิคาอิล กอร์บาชอฟ เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตและประกาศนโยบายกลาสนอสต์และเปเรสตรอยก้า ในปี 1989 เกิดการปฏิวัติโค่นล้มระบอบคอมมิวนิสต์ในบังคับของโซเวียตในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก เริ่มจากโปแลนด์ไปฮังการี, เยอรมนีตะวันออก, บัลแกเรีย, เชโกสโลวะเกีย, และโรมาเนีย ในปีนั้นโซเวียตถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน เกิดการจลาจลของกลุ่มชาตินิยมในจอร์เจีย พรรคคอมมิวนิสต์ลิทัวเนียประกาศอิสรภาพจากพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต จัดให้มีการเลือกตั้งอย่างเปิดเผยของรัฐสภาชุดใหม่ของประชาชนเป็นครั้งแรก
ในปี 1989 สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตใช้เสรีภาพจากนโยบายของกอร์บาชอฟเป็นประโยชน์ในการเรียกร้องเอกราชเพิ่มขึ้นโดยมี ลัตเวีย, เอสโตเนีย, และลิทัวเนียเป็นกลุ่มประเทศแรก
9 พฤศจิกายน 1989 กำแพงเบอร์ลินซึ่งก่อสร้างขึ้นมาตั้งแต่ 13 สิงหาคม 1961 ล่มสลาย ปิดฉาก 28 ปีตำนานอัปยศของกำแพงนรกที่แบ่งแยกคนเชื้อชาติเดียวกันมาเกือบสามทศวรรษแห่งนี้ลงอย่างสมบูรณ์ หลังจากนั้นอีกไม่ถึงปีในวันที่ 3 ตุลาคม 1990 สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมันหรือเยอรมันตะวันออก (German Democratic Republic : GDR) เข้ารวมเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐเยอรมัน (Federal Republic of Germany)เยอรมันกลับมารวมเป็นประเทศเดียวกันอีกครั้งในรูปแบบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย
ในปี 1990 อาร์เมเนีย, มอลโดวา, ยูเครน, และจอร์เจียจึงเรียกร้องเอกราชตามมาเช่นกัน พรรคคอมมิวนิสต์ลงมติยุติการปกครองแบบพรรคเดียว โดยเปิดโอกาสให้มีฝ่ายค้านทางการเมือง และสภานิติบัญญัติที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย ลงมติให้ออกจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ ประกาศอำนาจอธิปไตยของรัสเซียเป็นรัฐอิสระซึ่งก็คือประเทศรัสเซียในปัจจุบัน ในความพยายามครั้งสุดท้ายที่จะรักษาสหภาพโซเวียตไว้ด้วยกัน กลุ่มคอมมิวนิสต์หัวรุนแรงได้พยายามก่อรัฐประหารขึ้นในเดือนสิงหาคม 1991 แต่ประสบความล้มเหลวเมื่อประชาชนออกมาต่อต้านเต็มไปทั่วทุกสถานที่ ทำให้กองทัพปฏิเสธที่จะสู้รบกับประชาชน, 24 ธันวาคม 1991 กอร์บาชอฟลาออกจากตำแหน่งผู้นำสหภาพโซเวียต และส่งต่ออำนาจให้กับบอริส เยลต์ซิน
และแล้วในวันที่ 26 ธันวาคม 1991 สภาแห่งสาธารณรัฐซึ่งเป็นสภาสูงของศาลฎีกาโซเวียต โหวตให้สหภาพโซเวียตสิ้นสุดของการดำรงอยู่ อันเป็นการสิ้นสุดรัฐคอมมิวนิสต์ที่เก่าแก่ ยิ่งใหญ่ และทรงอำนาจมากที่สุดในโลกอย่างเป็นทางการตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
แรงบันดาลใจหรือแค่ความประทับใจ
“Wind of Change” เป็นบทเพลงที่เป็นแรงจูงใจหรือแรงบันดาลใจให้เกิดการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินและสหภาพโซเวียตหรือไม่ จากลำดับเวลาของเหตุการณ์และข้อมูลที่ได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นคงพอสรุปได้ว่า “ไม่ใช่ทั้งสองกรณี” บทเพลงนี้เป็นเพียงบันทึกภาพประทับใจซึ่งผู้เขียนได้พบเห็นจากประสบการณ์จริง จากการมีส่วนร่วมในเหตุการณ์และเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนจบ เนื้อหาของบทเพลงที่บรรยายถึง “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” จึงเปรียบเสมือนบันทึกที่ถูกจดจารลงบนไดอารี่เล่มหนึ่งเท่านั้น เพียงแต่ไดอารี่นี้สามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่เปิดอ่านนับล้านๆคนทั่วโลก อย่างไรก็ตามเมื่อมีสัญญาณแห่ง การเปลี่ยนแปลงสังคม ในอนาคต “Wind of Change” สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่จะตามมาได้ แต่ไม่ใช่ในฐานะตัวการที่สร้างแรงกระแทก (Impact) โดยตรง อาจทำได้เพียงแค่ให้กำลังใจผู้คนได้บ้างเท่านั้นเอง
ทฤษฎีสมคบคิด
ส่วนในกรณีที่เพลงดังกล่าวเป็นหัวข้อของพอดคาสต์ “Wind of Change” เผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ซึ่งทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับที่มาของเพลงว่าสกอร์เปียนส์ไม่ได้แต่งเพลงนี้ขึ้นเอง แต่เกิดจากสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐหรือ CIA แต่งขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ในการโฆษณาชวนเชื่อให้เกิดการล่มสลายของคอมมิวนิสต์เร็วขึ้นโดย Patrick Radden Keefe นักเขียนชาวนิวยอร์กและผู้ดำเนินรายการพอดคาสต์ซึ่งเป็นผู้อ้างว่าเขาได้รับข้อมูลนี้มาจากผู้ที่ใกล้ชิดกับหน่วยงานดังกล่าวเล่าให้เขาฟัง ในเรื่องนี้เคลาส์ ไมน์เนอได้ให้สัมภาษณ์ดอน เจมีสันในรายการ “That Jamieson Show” ออกอากาศเมื่อ 12 กรกฎาคม 2020 ว่า “เขาไม่คิดว่าจะมีใครเชื่อเรื่องแบบนั้น คิดว่าความสำเร็จของพอดคาสต์ “Wind of Change” ก็เพราะเมื่อผู้คนเข้ามาฟังมันเป็นสถานการณ์ที่ต่างคนต่างคิด มันน่าจะเป็นไปได้ หรือไม่ได้ น่าจะจริงหรือไม่จริง พอมีเรื่องสกอร์เปียนส์กับซีไอเอมันก็จะกระจายไปทั่วโลก ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องไม่จริงเลย แต่มันก็แสดงให้ถึงพลังของดนตรีว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง แต่ถ้าพวกเขาคิดว่าเพลงนี้จะเป็นเครื่องมือที่จะใช้ทำลายระบอบคอมมิวนิสต์แล้วละก็..(หัวเราะ)” ท้ายที่สุดดูเหมือนว่าเรื่องที่ซีไอเอแต่งเพลง “Wind of Change” จะเป็นแค่เพียงอีกหนึ่งของทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy theory)เท่านั้นเอง
คลื่นลูกใหม่ สังคมใหม่ กับสายลมที่กำลังพัดมา
The world is closing in
Did you ever think
That we could be so close, like brothers
The future’s in the air
Can feel it everywhere
Blowing with the wind of change
Take me to the magic of the moment
On a glory night
Where the children of tomorrow dream away
In the wind of change
เนื้อเพลง : Wind of Change (บางส่วน)
ผู้แต่ง : Klaus Miene
หมายเหตุและลิงก์เพื่อการอ้างอิง
(*)วงดนตรีและนักดนตรีรับเชิญที่ร่วมการแสดงในงาน Moscow Music Peace Festival ประกอบไปด้วย Cinderella(อเมริกัน), Scorpions(เยอรมัน), Skid Row(อเมริกัน), Montley Crue(อเมริกัน), Bon Jovi(อเมริกัน), Ozzy Osbourne(อังกฤษ), Gorky Park(รัสเซีย), Brigada S(โซเวียต/รัสเซีย), และแขกรับเชิญพิเศษ Jason Bonham (ลูกชาย John Bonham)
ฟังเพลง Wind of Change
Scorpions – Wind Of Change (Official Music Video)
https://www.youtube.com/watch?v=n4RjJKxsamQ
How Scorpions’ ‘Wind of Change’ Helped Define a Moment in History | https://ultimateclassicrock.com/scorpions-wind-of-change-history/
The former Soviet leader Mikhail Gorbachev full interview – BBC News
https://www.youtube.com/watch?v=qYVsKoQXATY
KLAUS MEINE Says Rumor That CIA Wrote SCORPIONS’ ‘Wind Of Change’ Shows How Powerful Music Can Be
https://www.blabbermouth.net/news/klaus-meine-says-rumor-that-cia-wrote-scorpions-wind-of-change-shows-how-powerful-music-can-be/
Did the CIA Write a Rock Song to End the Cold War?
https://www.youtube.com/watch?v=uDZFksTnx58
‘Scorpions’ Klaus Meine Interview
https://www.youtube.com/watch?v=4Hj4PCglmPQ
Leave a Reply