เมื่อประมาณสองเดือนก่อนไปเห็นคลิปในยูทูปช่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของ ดร.เฟลตัน (Dr.Mark Felton) ชื่อคลิปคือ “Thai Occupation of Germany – A Forgotten WW1 Operation” เป็นเรื่องราวที่ทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ 1 ของสยามเข้ายึดครองดินแดนไรน์แลนด์ของเยอรมนีร่วมกับพันธมิตรมหาอำนาจอีกหลายประเทศ ต้องบอกว่าแปลกใจมากเพราะจำได้ว่าตอนที่เรียนประวัติศาสตร์สมัยมัธยมศึกษารู้แค่ว่าไทย (ตอนนั้นยังเป็นสยามอยู่) ประกาศสงครามกับมหาอำนาจกลางและร่วมส่งทหารเข้าไปช่วยพันธมิตรเพื่อทำการสู้รบในยุโรปก็ใกล้เวลาที่สงครามจะยุติแล้ว ทหารเรายังฝึกไม่ทันเสร็จด้วยซ้ำสงครามก็จบแล้ว ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าไทยเราเคยเข้าไปยึดครองดินแดนของประเทศใดมาก่อน หลังดูวิดีโอชุดนี้จบแล้วได้เข้าไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมจึงได้พบว่ามีบันทึกเรื่องราวเหล่านี้อยู่หลายแห่ง และที่น่าทึ่งก็คือมีบันทึกของทหารจาก กองทหารอาสาสยาม ที่ไปในครั้งนั้นบันทึกเรื่องราวต่างๆไว้ในรูปแบบที่เรียกว่าแหล่เทศน์ถือได้ว่าเป็นประจักษ์พยานหรือแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Source) ซึ่งบันทึกนี้สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ “ระบบคลังข้อมูลดิจิทัล กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม หนังสือชื่อ แหล่เทศน์ กองทหารบกรถยนตร์ซึ่งไปในงานพระราชสงคราม ทวีปยุโรป ภาค 1-2 ผู้แต่ง เคลือบ เกษร” ส่วนข้อมูลที่ค่อนข้างเป็นทางการอื่นๆได้ลงลิงก์ไว้ด้านล่างนี้แล้ว
สงครามโลกครั้งที่ 1 หรือที่เรียกว่า “มหาสงคราม (Great War)” เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 1914 หลังการลอบสังหารอาร์ชดยุก ฟรันซ์ แฟร์ดีนันท์ รัชทายาทของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและภรรยาเสียชีวิตที่ซาราเยโวเมืองหลวงของบอสเนียเฮอร์เซโกวีนา ออสเตรียกล่าวหาว่าเซอร์เบียอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารในครั้งนี้และได้ยื่นคำขาด (ultimatum) 10 ข้อให้เซอร์เบียปฏิบัติตาม ทางการเซอร์เบียสามารถปฏิบัติได้เพียงบางข้อเท่านั้นที่เหลือไม่สามารถทำตามได้เพราะจะถือเป็นการสูญเสียเอกราชตามรัฐธรรมนูญของเซอร์เบียเอง เมื่อผ่านเส้นตายตามที่กำหนดออสเตรียจึงประกาศสงครามกับเซอร์เบียทันที ความขัดแย้งนี้ควรจะยุติลงแค่ระดับภูมิภาคแต่กลับลุกลามบานปลายไปทั่วยุโรป มีคนกล่าวว่าสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเปรียบได้กับจิ๊กโก๋ตีกันในบาร์เพราะมีลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อนตีกับฝ่ายอริ อาจเป็นเพราะในยุคนั้นประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ปกครองด้วยระบบกษัตริย์ที่สามารถตัดสินใจในนามของประเทศได้ด้วยตนเอง เมื่อมีข้อพิพาทขัดแย้งกันก็สามารถลากเอาประชาชนทั้งประเทศไปเผชิญชะตากรรมได้ หลังสงครามสงบจึงมีหลายประเทศที่เปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นรูปแบบสาธารณะรัฐ
- สยามก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
- ประกาศตัวเป็นกลาง
- กองทหารอาสาสยาม เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1
- ยึดเรือจับคนเยอรมัน เยอรมันจับนักเรียนไทย
- ธงชาติใหม่ของสยาม
- สัมพันธมิตร (Allied powers) ในสงครามโลกครั้งที่ 1
- จากกรุงเทพฯสู่ฝรั่งเศส
- ความขัดแย้งบาดหมางระหว่างทหารสยามกับฝรั่งเศส
- พันธมิตรปลอบใจสยาม
- กองทหารอาสาสยาม เข้ายึดครองพื้นที่ในดินแดนเยอรมนี
- ร่วมสวนสนามในขบวนพาเหรดแห่งชัยชนะ
- ความสูญเสียของ กองทหารอาสาสยาม
- เดินทางกลับบ้าน
- ผลพวงหลังสงคราม
- ลิงก์เพื่อการอ้างอิง
สยามก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ในช่วงก่อนที่จะเกิดมหาสงครามในครั้งนี้ สยามเองต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน แม้ว่าจะไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของใครแต่อำนาจอธิปไตยของประเทศก็ยังไม่มั่นคงนักเพราะยังขึ้นอยู่กับนโยบายของเพื่อนบ้านเจ้าอาณานิคมทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส ย้อนไปไม่กี่ปีจากเวลานั้นสยามต้องถูกบังคับให้สละดินแดนบางส่วนหลังสงครามระหว่างฝรั่งเศส-สยามปี 1893 หรือที่เราเรียกว่าวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 และยังต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมปี 1909
เมื่อสงครามอุบัติขึ้นทำให้เกิดอุปสรรคในการค้าขายระหว่างประเทศเป็นอย่างมากเนื่องจากต้องใช้เส้นทางเดินเรือระหว่างสยามกับยุโรปในการขนส่งสินค้าเป็นหลัก ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศถดถอยลงอย่างรวดเร็ว ในกรุงเทพฯมีชุมชนของนักการทูตและนักธุรกิจชาวยุโรปจำนวนมาก ในบรรดาชาวต่างชาติเหล่านี้ คนอังกฤษดูจะมีอิทธิพลมากกว่าใคร ในขณะที่ชาติอื่นๆก็พยายามแย่งชิงผลประโยชน์ที่มีอยู่มากมายในสยามเช่นเหมืองแร่ การทำป่าไม้ การขนส่งรวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ สินค้าเทคโนโลยีของเยอรมันโดยเฉพาะสินค้าที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงรวมถึงยารักษาโรคมีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับนิยมซื้อขายกันอย่างแพร่หลายในสยาม อีกทั้งเราเองไม่ได้มองเยอรมนีในฐานะเจ้าอาณานิคมในภูมิภาคนี้ ดังนั้นเมื่อเทียบความสัมพันธ์กับอังกฤษหรือฝรั่งเศสซึ่งเคยมีข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดนแล้วจึงมีความรู้สึกที่ดีกว่า สายการเดินเรือของเยอรมันยังสามารถครอบครองบริการด้านการขนส่งระหว่างกรุงเทพฯและประเทศคู่ค้าอื่นๆอีกด้วย
ประกาศตัวเป็นกลาง
เกือบจะทันทีที่สงครามเริ่มขึ้น รัฐบาลสยามได้ออกพระราชโองการเรื่องความเป็นกลางเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1914 เพราะเราเองก็ไม่ได้มีส่วนได้เสียอะไรในสงครามนี้ อีกทั้งพื้นที่การสู้รบก็อยู่ห่างไกลจากประเทศของเรามาก อย่างไรก็ตามในอีกสามปีต่อมาความพยายามในการรักษาสถานภาพนี้ไว้ก็เป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ กรุงเทพฯได้กลายเป็นสมรภูมิของการโฆษณาชวนเชื่อจากคู่สงครามทั้งสองฝ่ายที่พยายามแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อดึงเอาสยามเข้าไปเป็นพวก ทั้งสองฝ่ายต้องการพันธมิตรเชิงกลยุทธ์และผลประโยชน์ทางการค้าของตลาดเพียงแห่งเดียวในตะวันออกไกลที่ยังไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของใครในขณะนั้น เรือสินค้าของเยอรมัน 9 ลำได้ใช้โอกาสทอดสมอหลบภัยในน่านน้ำที่เป็นกลางของสยามอยู่หลังสันดอนทรายที่ปากน้ำ ซึ่งก็จะประกันความปลอดภัยจากเรือรบศัตรูของตนได้เป็นอย่างดี ในฝั่งพันธมิตรเองก็ได้มีการกระจายข่าวไปทั่วถึงการกระทำที่โหดร้ายทารุณ การสังหารหมู่ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนรวมถึงการใช้อาวุธเคมีของเยอรมันในสงครามครั้งนี้
บรรดาเจ้านายและบุคคลชั้นสูงของเราเองก็มีทัศนคติต่อเรื่องนี้ต่างกันไป ในหลวงรัชกาลที่ 6 และพระองค์เจ้าเทวะวงศ์วโรปการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแม้จะนิยมอังกฤษอยู่แต่ก็มีจุดยืนที่จะวางตัวเป็นกลาง, เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เสนาธิการทหารบกซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดทางทหารและพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากรที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศของรัชกาลที่ 6 มีใจให้กับฝ่ายพันธมิตร ส่วนเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ มีความโน้มเอียงไปกับฝ่ายเยอรมนี ท้ายที่สุดเมื่อต้องเข้าร่วมสงคราม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 6 ก็ทรงตัดสินพระทัยที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตร
กองทหารอาสาสยาม เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1
พระองค์ตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรและประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางหลังการถอนตัวของรัสเซียซึ่งเกิดปัญหาภายในประเทศจากการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สอง ในตอนต้นปี 1917 ซึ่งทำให้ฝ่ายมหาอำนาจกลางที่นำโดยเยอรมนีมีโอกาสที่จะเอาชนะสงครามได้มากขึ้น สหรัฐอเมริกาซึ่งมีผลประโยชน์จำนวนมากในยุโรปจึงได้ประกาศเข้าร่วมสงครามและได้ส่งกองกำลังรวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าไปในยุโรปเป็นจำนวนมาก ฝ่ายพันธมิตรจึงกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบและค่อนข้างมีความชัดเจนว่าจะเป็นผู้ชนะในสงครามครั้งนี้ นอกจากนั้นพระองค์ยังได้รับทราบเรื่องราวความโหดร้ายของเยอรมันในยุโรปเช่นการกระทำต่อผู้คนชาวเบลเยี่ยม การใช้เรือดำน้ำโจมตีเรือของพลเรือนอย่างไม่เลือกหน้า การตัดสินใจที่จะส่งกองกำลังไปยังฝรั่งเศส เพื่อเข้าร่วมรบในมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ในครั้งนี้ก็ยังเป็นโอกาสที่จะแสดงให้เห็นความเป็นมืออาชีพของกองทัพสยาม และเป็นการแสดงตัวตนของประเทศในเอเซียให้นานาชาติได้เห็นรวมถึงเป็นโอกาสที่สยามเองจะใช้เป็นเหตุผลในการแก้ไขสนธิสัญญาต่างๆที่เสียเปรียบกับชาติมหาอำนาจหลายประเทศที่เคยลงนามกันไว้ด้วย
ยึดเรือจับคนเยอรมัน เยอรมันจับนักเรียนไทย
วันที่ 22 กรกฎาคม 1917 สยามประกาศสงครามกับเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี ส่งผลให้บรรดาแหล่งผลประโยชน์และทรัพย์สินของศัตรูถูกรัฐบาลเข้ายึดในทันที เรือสินค้า 9 ลำของเยอรมันที่จอดเทียบท่าอยู่ที่ท่าเรือของสยามถูกยึด บางส่วนของลูกเรือและพลเรือนผู้มีสัญชาติในกลุ่มอำนาจกลาง (รวมทั้งเด็กและสตรี) ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทางการทูตซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศจากจำนวนทั้งหมด 320 คนถูกจับกุมในช่วงพักกลางวันและได้ถูกกักตัวไว้โดยไม่มีความรุนแรงแต่อย่างใด ชายชาวเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการีที่อยู่ในวัยประจำการทางทหารจำนวน 193 คนถูกส่งไปกักตัวที่โรงพยาบาลทหารในใจกลางกรุงเทพฯที่เหลือซึ่งเป็นสตรีและเด็กๆรวมถึงภรรยาชาวไทยและลูกๆรวม 124 คนถูกส่งไปอยู่ที่สโมสรของชาวเยอรมันโดยมีความเป็นอยู่ที่ดีสะอาดมีอาหารและสิ่งจำเป็นอย่างพอเพียงผู้คุมก็มีความเป็นมิตรและให้การเอื้อเฟื้อเป็นอย่างดี ต่อมารัฐบาลได้รับแรงกดดันจากชาติพันธมิตรจึงจำเป็นต้องส่งคนเหล่านี้ไปยังประเทศอินเดียเพื่อรวมกับเพื่อนร่วมชาติ ที่ค่ายกักกันพลเรือนของบริติช-อินเดียซึ่งตั้งอยู่ที่นั่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 1918 ในฐานะเชลยศึกจนกระทั่งปี 1920 จึงถูกปล่อยตัวกลับเยอรมนี
ในขณะเดียวกันเมื่อรัฐบาลเยอรมันได้รับรู้ถึงการการตัดสินใจเข้าร่วมกับสัมพันธมิตรและประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางของรัฐบาลสยาม ก็ได้ติดตามและประเมินถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่ในที่สุดเจ้าหน้าที่เยอรมันรวมถึงสื่อมวลชนต่างมองว่าเรื่องนี้ไม่มีนัยสำคัญทางทหารหรือด้านอื่นๆต่อเยอรมันแต่อย่างใด การตัดสินใจของรัฐบาลสยามน่าจะเกิดจากแรงกดดันของอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งมีอิทธิพลสูงยิ่งในภูมิภาคนี้มากกว่า แม้ว่าจะมีชาวเยอรมันกังวลถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ก็ตาม อย่างไรก็ดีในขณะนั้นมีนักศึกษาชาวสยาม 9 คนที่เจ้าหน้าที่ของสยามไม่สามารถอพยพออกมาได้ทันถูกฝ่ายเยอรมันจับเป็นเชลยศึกฝ่ายพลเรือนและนำไปกักตัวไว้ที่ปราสาทเซลเล (Celle Castle) แต่ทั้งหมดได้รับการดูแลเป็นอย่างดีทั้งเสื้อผ้า อาหาร ไฟฟ้าและเครื่องทำความร้อนแถมยังมีเปียโนไว้ให้เล่นคลายเหงาอีกด้วย อย่างไรก็ตามมีนักศึกษาคนหนึ่งเสียชีวิตลงในตอนปลายเดือนตุลาคม 1918
สยามเป็นประเทศเดียวในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังคงรักษาความเป็นเอกราชไว้ได้ในช่วงของการขยายอิทธิพลของมหาอำนาจในยุคล่าอาณานิคม และเป็นประเทศเดียวที่เข้าร่วมสงครามด้วยความต้องการของตนเองเช่นเดียวกับชาติมหาอำนาจในยุโรปแทนที่จะเป็นส่วนหนึ่งของจักวรรดิที่ปกครองอยู่ ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตร ฝรั่งเศสเพื่อนบ้านซึ่งมักเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสยามในอินโดจีนอยู่เสมอได้แนะนำให้สยามจัดตั้งหน่วยรถพยาบาลอาสาสมัครขึ้นและจัดหานักเรียนไทยเพื่อทำการศึกษาในฝรั่งเศส นอกจากนั้นยังแนะนำให้กองทัพบกสยามจัดหาพลขับรถยนต์รวมถึงนักบินและช่างเทคนิคอากาศยานเพื่อไปทำการฝึกที่ประเทศฝรั่งเศส รัฐบาลสยามพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเสนอของฝรั่งเศสนั้นสยามมีศักยภาพพอที่จะปฏิบัติได้และยังคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของชาติเช่นเดียวกับพันธมิตรอื่นๆ โดยก่อนหน้านี้อังกฤษเคยได้ให้คำแนะนำเหมือนกันแต่ทางรัฐบาลไม่เห็นด้วย
เนื่องจากในขณะนั้นกองทัพสยามเองไม่ได้มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมในสงครามใหญ่ทั้งด้านการฝึกรวมถึงการขาดแคลนอุปกรณ์และสัมภาระที่จำเป็น กองกำลังของสยามจึงจะได้รับเครื่องแบบรวมทั้งหมวกเหล็ก เอ็ม1915 เอเดรียนของฝรั่งเศสสำหรับใช้งานในกองทหารนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้จัดตั้งกองทหารสยามเพื่อปฏิบัติการนอกราชอาณาจักร (Siamese Expeditionary Forces) ขึ้นซึ่งต่อมาเรียกกันโดยทั่วไปว่า กองทหารอาสาสยาม หลังการฝึกเบื้องต้นที่กรุงเทพฯ พระองค์ทรงจัดส่งกองกำลังซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยขนส่งกองทหารบกรถยนต์และหน่วยแพทย์จำนวน 870 นาย หน่วยบินกองบินทหารบกจำนวน 414 นาย ทั้งหมดเป็นทหารอาสาสมัครที่ผ่านการคัดเลือกจากชายชาวสยามหลายพันคน โดยมีกองกำลังส่วนหน้าเป็นนายทหารซึ่งมีพลตรีพระยาพิชัยชาญฤทธิ์เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดเดินทางล่วงหน้าไปรอที่ฝรั่งเศสก่อนแล้ว ซึ่งท่านผู้นี้เคยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลาหลายปีโดยเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบกของฝรั่งเศสจึงมีความรู้ความชำนาญในภาษาฝรั่งเศสเป็นอย่างดี สำหรับผู้บังคับหน่วยทหารแต่ละหน่วยมีดังนี้คือ กองบินทหารบก พ.ต.หลวงทยานพิฆาต (ทิพย์ เกตุทัต), กองทหารขนส่ง หลวงรามฤทธิรงค์ (ต๋อย หัสดิเสวี), และหน่วยแพทย์ ร.ต.ชุ่ม จิตต์เมตตาเป็นผู้บังคับหน่วย
ธงชาติใหม่ของสยาม
ในช่วงนี้เองสยามได้มีการเปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์ประจำชาติที่สำคัญอย่างหนึ่งคือธงชาติ ในปี 1916 ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงเห็นว่าธงชาติพื้นแดงที่มีช้างเผือกอยู่ตรงกลางซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 นั้นรูปแบบไม่เป็นไปตามมาตรฐานเหมือนกับธงชาติที่นานาประเทศใช้กันอยู่ จึงได้ทรงเปลี่ยนเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามี 5 ริ้วโดยมีแถบยาวสีแดง 3 แถบสลับกับแถบสีขาว 2 แถบ มีรูปแบบเช่นเดียวกับธงชาติไทยในปัจจุบันเพียงแต่มีแค่สีแดงกับสีขาวเท่านั้น ต่อมาเมื่อได้เข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตรและประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง พระองค์จึงให้มีการแก้ไขธงชาติเสียใหม่โดยเปลี่ยนสีของแถบกลางซึ่งเดิมเป็นสีแดงให้เป็นสีน้ำเงิน และได้นิยามความหมายของแต่ละสีไว้ว่า สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระรัตนตรัยและธรรมะอันเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์ (creed, crown and community) อีกทั้งสีทั้งสามนี้ยังเป็นสีของธงชาติของพันธมิตรหลักหลายประเทศเช่น รัสเซีย, ฝรั่งเศส, บริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกา ทำให้เมื่อสยามเข้าไปร่วมสีของธงชาติจึงกลมกลืนไปกับบรรดาธงของมิตรประเทศส่วนใหญ่เหล่านี้
สัมพันธมิตร (Allied powers) ในสงครามโลกครั้งที่ 1
เว็บไซต์ Britannica ได้ให้คำอธิบายคำว่าสัมพันธมิตรไว้ว่าเป็นบรรดาประเทศที่เข้าร่วมกันในการต่อต้านฝ่ายมหาอำนาจกลาง (เยอรมนี, ออสเตรีย-ฮังการี, และตุรกี) ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หรือฝ่ายอักษะ (เยอรมนี, อิตาลี, และญี่ปุ่น) ในสงครามโลกครั้งที่สอง
มหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรที่สำคัญหรือเป็นสัมพัธมิตรหลัก (Allied) ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้แก่ บริเตนใหญ่และจักรวรรดิอังกฤษ, ฝรั่งเศส, และจักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นทางการโดยสนธิสัญญาลอนดอนเมื่อวันที่ 5 กันยายน 1914 รวมถึงประเทศอื่น ๆ ที่เคยเป็นหรือกำลังจะเป็นพันธมิตรกันโดยสนธิสัญญาฝ่ายเดียวหรือหลายฝ่ายก็ตามคือ โปรตุเกสและญี่ปุ่นโดยสนธิสัญญากับสหราชอาณาจักร อิตาลีตามสนธิสัญญาลอนดอน เมื่อวันที่ 26 เมษายน 1915 ส่วนประเทศอื่นๆรวมทั้งสหรัฐอเมริกาและสยาม ที่เข้าร่วมหลังวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1917 จะไม่เรียกว่าพันธมิตรหลักแต่เรียกว่าเป็นพันธมิตรสมทบ (Associated Powers)
ตามสนธิสัญญาแวร์ซาย (28 มิถุนายน 1919) เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมีรายชื่อพันธมิตรหลักและพันธมิตรสมทบจำนวน 27 ชาติมีรายชื่อเรียงตามอักษรภาษาอังกฤษได้แก่ เบลเยียม, โบลิเวีย, บราซิล, จักรวรรดิอังกฤษ, จีน, คิวบา, เชโกสโลวะเกีย, เอกวาดอร์, ฝรั่งเศส, กรีซ, กัวเตมาลา, เฮติและเฮยาซ, ฮอนดูรัส, อิตาลี, ญี่ปุ่น, ไลบีเรีย, นิการากัว, ปานามา, เปรู, โปแลนด์, โปรตุเกส, โรมาเนีย, ราชอาณาจักรเซิร์บโครแอตและสโลวีเนีย(ปัจจุบันคือยูโกสลาเวีย), สยาม, สหรัฐอเมริกา และอุรุกวัย
จากกรุงเทพฯสู่ฝรั่งเศส
กำลังหลักของ กองทหารอาสาสยาม เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปต่อเรือใหญ่ชื่อเรือเอ็มไพร์ (S.S.Empire) ที่เกาะสีชัง ออกเดินทางเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 1918 ไปยังสิงคโปร์ผ่านทางอียิปต์ ใช้เวลาเดินทางห้าสัปดาห์ ถึงท่าเรือมาร์แซย์ (Marseilles) ของฝรั่งเศสในวันที่ 30 กรกฎาคม 1918 บรรดาทหารสยามต่างก็คาดว่าจะได้พบกับการต้อนรับอย่างเอิกเกริกโดยมีพิธีรีตรองเหมือนตอนที่ออกเดินทางมาแต่ก็ต้องผิดหวัง ปัญหาเกิดจากความเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายฝรั่งเศสที่คิดว่าพวกเขาเป็นกองกำลังอินโดจีนภายใต้ปกครองของฝรั่งเศส อีกทั้งกองกำลังทหารสยามมีขนาดเล็กมากในขณะนั้นตัวอย่างเช่นเมื่อเทียบกับกองทัพอเมริกาที่ถูกส่งเข้ามาที่มาร์แซย์วันละนับหมื่นนายทุกวัน ดังนั้น กองทหารอาสาสยาม จึงไม่เป็นที่สังเกตและเป็นที่สนใจของใคร ต่อมาได้ถูกส่งไปยังค่ายฝึกเพื่อทำการฝึกต่ออีกสองเดือนก่อนที่จะถูกส่งไปยังแนวหน้า โดยกองบินทหารบกถูกย้ายไปค่ายฝึกที่เลอโครตัวตะวันออก (East Le Crotoy), ชับแปลลาแรนน์ (Chapelle-La Reine), บิสคารอส (Biscarosse), และที่ปิออกซ์ (Piox) ในขณะที่กองทหารขนส่งถูกย้ายไปยังค่ายฝึกที่ลียง (Ryan) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1918 กองยานยนต์ก็ถูกย้ายไปยังบริเวณใกล้กับเมืองชาลอนส์ ( Chalons) ในภูมิภาคช็องปาญ (Champagne region) ด้านหลังของแนวหน้า และเริ่มส่งกำลังทหารเข้าไปยังบริเวณสู้รบในแนวหน้าโดยใช้รถบรรทุกของฝรั่งเศสในการขนส่งเสบียงและอาวุธสนับสนุนการสู้รบของกองกำลังพันธมิตร
ถึงแม้ว่า กองทหารอาสาสยาม ที่เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจะไม่มีบทบาทในการรบโดยตรง หน่วยบินของสยามยังไม่ทันได้เสร็จสิ้นจากการฝึกสงครามก็ยุติลงเสียก่อน ส่วนหน่วยยานยนต์ขนส่งและหน่วยแพทย์แม้จะเข้าร่วมในแนวหน้าในขณะที่สงครามเกือบจะยุติแล้ว แต่ก็ได้เข้าร่วมในสมรภูมิอย่างกล้าหาญไม่ต่างจากหน่วยรบของชาติอื่นๆ ในบันทึกแหล่เทศน์ของสิบเอกเคลือบ เกษร หลายตอนได้กล่าวถึงการนำรถขนส่งเสบียงและอาวุธฝ่ากระสุนปืนใหญ่เข้าไปส่งให้ทหารในแนวหน้าอย่างไม่คิดถึงชีวิต ในตอนหนึ่งได้กล่าวถึงทหารที่เสียชีวิตจากอาการป่วย (เข้าใจว่าป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สเปน) คนหนึ่งคือพลทหารโป๊ะ ซุกซ่อนภัยว่าเคยได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดมาก่อนแสดงให้เห็นว่าทหารสยามได้ปฏิบัติการเสี่ยงอันตรายอยู่ในแนวหน้าเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารของพันธมิตรจริง การปฏิบัติการอย่างกล้าหาญของกองทหารยานยนต์ขนส่ง ทางฝรั่งเศสจึงได้มอบเหรียญกล้าหาญ Croix de Guerre ไว้ให้เป็นเกียรติ
ความขัดแย้งบาดหมางระหว่างทหารสยามกับฝรั่งเศส
ส่วนในด้านของการบริหารสิ่งที่กองกำลังทหารสยามเผชิญอยู่ตั้งแต่เมื่อเดินทางมาถึงไม่น่ายินดีนัก เพราะเจ้าหน้าที่ประสานงานที่ทางฝรั่งเศสจัดมาให้นั้นเป็นพวกที่ชอบกดขี่และเหยียดเชื้อชาติ ทำให้มีการกระทบกระทั่งจนเกิดความตึงเครียดอย่างหนักระหว่างชาติพันธมิตรทั้งสอง บันทึกของสิบเอกเคลือบ เกษรกล่าวถึงเรื่องที่ฝ่ายฝรั่งเศสแจกจ่ายเสบียงให้ไม่พอเพียงจนผู้บังคับบัญชาของทหารสยามไม่พอใจและต้องใช้เงินส่วนตัวของท่านซื้อเสบียงอาหารเอง อีกทั้งยังได้เห็นการปฏิบัติของทหารฝรั่งเศสที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นพลเมืองจากประเทศในอาณานิคมเช่นคนญวนอยู่เสมอ ในหนังสืองานศพของสิบเอกเคลือบ เกษร บุตรสาวของท่านได้เขียนถึงประวัติส่วนตัวตอนหนึ่งว่าท่านได้มีเรื่องทะเลาะกับทหารฝรั่งเศสจนถึงขั้นทำร้ายกันจนฝ่ายนั้นได้รับบาดเจ็บ เรื่องความขัดแย้งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและนักการทูตของพระองค์ทั้งในยุโรปและในกรุงเทพฯได้แสดงความไม่พอใจและได้ประท้วงอย่างรุนแรงต่อฝรั่งเศส ในขณะเดียวกัน หน่วยขนส่งและการแพทย์ก็ยังคงปฏิบัติการอยู่เบื้องหลังแนวรบของพันธมิตร มีแต่เพียงหน่วยการบินที่ยังไม่เสร็จสิ้นจากการฝึกก่อนที่สงครามจะยุติลงในวันที่ 11 พฤศจิกายน 1918
ทหารสยามเสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติการในฝรั่งเศสจำนวน 9 นาย ไม่มีใครเสียชีวิตจากการปะทะกับข้าศึกโดยตรงแต่ทั้งหมดเกิดจากอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากไข้หวัดใหญ่สเปนที่ระบาดหนักทุกภูมิภาคของโลกตั้งแต่ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นต้นมา ซึ่งปัญหาใหญ่คือกองกำลังของสยามไม่สามารถรับมือกับสภาพอากาศที่หนาวจัดได้ ในบันทึกแหล่เทศน์ของสิบเอกเคลือบ เกษรได้ให้รายละเอียดการเสียชีวิตของกำลังพลในส่วนของหน่วยขนส่งไว้ ทหารไทยสองนายเสียชีวิตที่กรุงเทพฯระหว่างเตรียมการเดินทางไปยุโรป
พันธมิตรปลอบใจสยาม
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสยามกับฝรั่งเศสเกี่ยวกับเรื่องที่เจ้าหน้าที่ประสานงานของฝรั่งเศสแสดงการกดขี่และเหยียดเชื้อชาติต่อทหารสยามทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่ารัฐบาลสยามจะไม่พอใจ เพื่อเป็นการปลอบใจรวมถึงให้เกียรติในความเท่าเทียมของการร่วมเป็นชาติพันธมิตรจึงตัดสินใจที่จะแก้ไขปัญหานี้โดยปรับเปลี่ยนให้ กองทหารอาสาสยาม มีบทบาทในการร่วมยึดครองเยอรมนี ภายใต้เงื่อนไขของการสงบศึกที่มีการตกลงกันว่าไรน์แลนด์ (Rhineland) ซึ่งเป็นดินแดนของเยอรมันทั้งสองฝั่งของแม่น้ำไรน์ทางตะวันตกของประเทศรวมทั้งเมืองโคโลญจะต้องถูกยึดครอง โดยมีเหตุผลสองประการคือ ในประการแรกฝรั่งเศสต้องการมีเขตกันชนเพื่อให้ยากต่อการที่เยอรมันจะโจมตีพวกเขาในอนาคต และประการที่สองเพื่อเป็นการเริ่มต้นบังคับให้ชาวเยอรมันจ่ายเงินค่าปฏิกรรมสงครามเพื่อชดใช้ต่อการก่อให้เกิดสงครามเป็นที่แรก
กองทหารอาสาสยาม เข้ายึดครองพื้นที่ในดินแดนเยอรมนี
ไรน์แลนด์เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญจำนวนมาก พื้นที่ส่วนนี้ได้ถูกแบ่งออกเป็นเขตยึดครองของอเมริกา, เบลเยียม, อังกฤษ, และฝรั่งเศส รวมถึงพื้นที่อีกส่วนหนึ่งที่ได้ถูกกันให้สยามได้รับโอกาสในการเข้าครอบครองซึ่งเป็นพื้นที่เล็กๆในเขตยึดครองของฝรั่งเศส เรื่องดังกล่าวทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและราษฎรของพระองค์มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งว่าในที่สุดสยามก็ได้รับสถานะที่เท่าเทียมกันกับชาติมหาอำนาจและพันธมิตรอื่นๆ
ในเดือนธันวาคม 1918 กองทหารอาสาสยาม เดินทางถึงเมืองนอยสตัดท์ (Neustadt an der Haardt ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Neustadt an der Weinstraße) ของเยอรมนี ซึ่งอยู่ติดกับชายป่าปาลาติน (Palatinate Forest) เป็นเมืองเล็กๆที่สวยงามของบ้านและโบสถ์แบบดั้งเดิมที่ล้อมรอบด้วยหมู่บ้าน ฟาร์ม และไร่องุ่นหลายแห่ง ในขณะนั้นเมืองนี้กำลังอยู่ในสภาพสับสนเมื่อมีการจัดตั้งสภาแรงงานและทหารในช่วงการปฏิวัติหลังจากการสละราชสมบัติของไกเซอร์ในปลายปี 1918
ทหารสยามจำนวน 500 นายเดินทางมาถึงโดยรถไฟจากไกเซอร์สเลาเทิร์น และเดินทัพเข้าเมืองเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1918 ด้วยเครื่องแบบเต็มยศทั้งหมวกเหล็ก, ปืนไรเฟิลบนบ่า และธงไตรรงค์ ได้จัดตั้งกองทหารรักษาการณ์นอยสตัดท์ขึ้น ในตอนที่ กองทหารอาสาสยาม เดินทางมาถึง ชาวเมืองต่างพากันสงสัยว่าผู้มาใหม่เหล่านี้เป็นใคร ส่วนใหญ่สัญนิษฐานว่าเป็นกองกำลังในอาณานิคมของฝรั่งเศส แต่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมาความสัมพันธ์ระหว่างทหารชาวพุทธกับชาวเมืองก็พัฒนาเป็นความสัมพันธ์ฉันเพื่อนที่ดีต่อกัน ปัญหาหลักที่ กองทหารอาสาสยาม เผชิญคือการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน ซึ่งชาวเมืองนอยสดัดท์และทหารสยามจำนวนมากอาจเสียชีวิตจากโรคระบาดนี้ไม่ต่างกัน ทหารสยาม 8 นายเสียชีวิตระหว่างการยึดครองนอยสตัดท์และพื้นที่โดยรอบ ครึ่งหนึ่งเกิดจากโรคระบาดที่เหลือเกิดจากการประสบอุบัติเหตุ
พื้นที่เล็กๆ ของเยอรมนีแห่งนี้ยังคงอยู่ภายใต้การยึดครองของ กองทหารอาสาสยาม จนถึงเดือนกรกฎาคม 1919 เมื่อสยามถอนกำลังเตรียมส่งทหารเดินทางกลับบ้าน ว่ากันว่าตอนที่กองทหารสยามเคลื่อนพลออกจากนอยสตัดท์ และส่งมอบพื้นที่กลับคืนสู่การยึดครองของฝรั่งเศสนั้น ทั้งทหารสยามและชาวเมืองจากกันด้วยน้ำตาของทั้งสองฝ่าย ในบันทึกแหล่เทศน์ของสิบเอกเคลือบ เกษรในตอนแหล่ขู่ให้เซ็นต์สัญญาและแหล่เซ็นต์สัญญาได้บรรยายความรู้สึกผูกพันของชาวเมืองกับทหารสยามไว้ค่อนข้างเห็นภาพได้ชัดเจน โดยปกติของการเข้ายึดครองดินแดนของชนชาติอื่นคนท้องถิ่นมักต่อต้านโดยมองเป็นศัตรูต่อกัน แต่ในกรณีของทหารสยามกับชาวเมืองนอยสตัดส์นั้นไม่ใช่คู่สงครามกันโดยตรงความรู้สึกที่มีต่อกันจึงไม่ใช่ในฐานะศัตรูเมื่อต่างมีความถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกันความผูกพันจึงเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด
ร่วมสวนสนามในขบวนพาเหรดแห่งชัยชนะ
ก่อนเดินทางกลับ กองทหารอาสาสยาม ได้เข้าร่วมขบวนพาเหรดแห่งชัยชนะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจัดขึ้นที่ปารีส, ลอนดอน, และบรัสเซลส์ ขบวนพาเหรดเหล่านี้จัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 1919 เป็นโอกาสเชิงสัญลักษณ์อย่างสำคัญในการแสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของสยามในเมืองหลวงของมหาอำนาจยุโรปที่ยิ่งใหญ่ภายใต้สายตาของกษัตริย์และผู้นำของประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย สยามได้แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของประเทศในฐานะของผู้ร่วมชัยชนะ ซึ่งได้ต่อสู้เพื่อรักษากฎหมายระหว่างประเทศ, ความยุติธรรม, และอารยธรรม โดยเอาชนะการใช้กำลังรุกรานอย่างไร้ความปราณี
ความสูญเสียของ กองทหารอาสาสยาม
กองทหารอาสาสยาม สูญเสียทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจำนวน 19 นาย ครึ่งหนึ่งตกเป็นเหยื่อของการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน ที่เหลือเกิดจากอุบัติเหตุในขณะปฏิบัติหน้าที่ ทหารสองนายเสียชีวิตในกรุงเทพฯในระหว่างการฝึกเพื่อเตรียมตัวเดินทางไปยุโรป ในจำนวนนี้ 9 นายเสียชีวิตในฝรั่งเศส อีก 8 นายเสียชีวิตในขณะยึดครองดินแดนเยอรมนีที่ไรน์แลนด์
เดินทางกลับบ้าน
กองทหารอาสาสยาม เดินทางกลับกรุงเทพฯโดยแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ เจ้าหน้าที่และทหาร 400 นายของกองบินซึ่งไม่ได้ปฏิบัติการรบในแนวหน้าเนื่องจากสงครามยุติลงเสียก่อนออกเดินทางจากฝรั่งเศสมาถึงสยามในเดือนพฤษภาคม 1919 กองยานยนต์กลับมาถึงกรุงเทพฯในเดือนกันยายน ในโอกาสนี้รัฐบาลได้จัดงานเฉลิมฉลองสันติภาพอย่างเป็นทางการ ทั้งในเมืองหลวงและจังหวัดสำคัญทั่วราชอาณาจักร เมื่อสิ้นสุดการเฉลิมฉลองและพิธีทางศาสนาเป็นเวลาสี่วัน อัฐิของทหารทั้งหมดที่เสียชีวิตได้ถูกนำไปประดิษฐานในอนุสรณ์สถานซึ่งสร้างขึ้นในบริเวณใจกลางเมืองใกล้กับพระบรมมหาราชวัง บริเวณมุมด้านทิศเหนือของท้องสนามหลวง ตรงข้ามโรงละครแห่งชาติซึ่งปัจจุบันเรียกว่าอนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 สมาชิกผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายของกองกำลังทหารอาสาสยามคือ ยอด แสงรุ่งเรือง เพิ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2003 ที่ผ่านมานี่เอง
ผลพวงหลังสงคราม
หลังสงคราม สยามมีส่วนร่วมในการประชุมสันติภาพแวร์ซาย (Treaty of Versailles) ในวันที่ 28 มิถุนายน 1919 และต่อมาได้เป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกผู้ก่อตั้งสันนิบาตรชาติ (League of Nations) ภายในปี 1925 สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, และฝรั่งเศส ได้ละทิ้งสิทธินอกอาณาเขตของตน นอกจากนี้สยามยังได้รับรางวัลเป็นเรือสินค้าเยอรมันที่ยึดมาได้ สำหรับในส่วนของการเมืองภายในประเทศ Claire Tran ซึ่งเป็นนักประวัตืศาสตร์เจ้าของบทความชื่อ “World War I: Asians on the European Front” ได้กล่าวถึงประสบการณ์การทำสงครามมีผลกระทบอะไรต่อชีวิตอาสาสมัครชาวสยามหลังจากที่พวกเขากลับมาอย่างไรบ้างพอสรุปได้ว่า “เป็นการยากที่จะสรุปว่าประสบการณ์จากสงครามมีผลกระทบอะไรต่อชีวิตของอาสาสมัครชาวสยามหลังจากที่พวกเขากลับมาถึงเมืองไทยบ้าง แต่มีบางคนที่มีส่วนร่วมในการเรียกร้องให้สยามเปลี่ยนจากระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบรัฐสภา ตั้ว ลภานุกรม และ จรูญ สิงหเสนี อดีตทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เป็นสองในเจ็ดของผู้ก่อตั้งคณะราษฎรขึ้นที่กรุงปารีสในช่วงทศวรรษ 1920 ซึ่งต่อมาประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในปี 1932 (การปฏิวัติปี พ.ศ.2475) ทหารผ่านศึกหลายคนมีบทบาทอย่างสำคัญในการฟอร์มรัฐบาลใหม่และนโยบายการเลือกตั้งของสยามในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง โชต คุ้มพันธุ์ อดีตอาสาสมัครและผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยที่ยังดำเนินกิจการอยู่ก็เป็นหนึ่งในนั้น”
ลิงก์เพื่อการอ้างอิง
War Stories with Mark Felton
Thai Occupation of Germany – A Forgotten WW1 Operation
Mark Felton productions
https://www.youtube.com/watch?v=Yht_Y7WywAU
Siamese Expeditionary Forces
https://en.wikipedia.org/wiki/Siamese_Expeditionary_Forces
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะพระมหากษัตริย์ นักปกครองและทหาร
ผู้เขียน เทพ บุญตานนท์
บรรณาธิการ ชนัญญา เตชจักรเสมา
https://kingchulalongkorn.car.chula.ac.th/th/article/kingrama6_4
World War I: Asians on the European Front
11.09.2018, by Claire Tran
https://news.cnrs.fr/opinions/world-war-i-asians-on-the-european-front
Why did Siam join the First World War?
Pad Kumlertsakul
https://blog.nationalarchives.gov.uk/siam-enter-first-world-war/
The Siamese Expeditionary Force of World War I and the Spanish Flu
Khwanchai Phusrisom
Stephen Martin
Mahasarakham, Thailand
https://hekint.org/2017/01/22/the-siamese-expeditionary-force-of-world-war-i-and-the-spanish-flu/
International Encyclopedia of the First World War
Siam
By Stefan Hell
https://encyclopedia.1914-1918-online.net/article/siam
Allied powers
international alliance
https://www.britannica.com/topic/Allied-Powers-international-alliance
แหล่เทศน์ กองทหารบกรถยนตร์ซึ่งไปในงานพระราชสงคราม ทวีปยุโรป ภาค 1-2
ผู้แต่ง เคลือบ เกษร
ระบบคลังข้อมูลดิจิทัล กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
http://digitalcenter.finearts.go.th/search/%e0%b9%80%e0%b8%84%e0%b8%a5%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%9a%20%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b8%a3?search_in=author
Rape of Belgium
https://en.wikipedia.org/wiki/Rape_of_Belgium
Siam in World War I | Wikipedia audio article
https://www.youtube.com/watch?v=Ra4Pug0ufiM
Neustadt an der Weinstraße
https://en.wikipedia.org/wiki/Neustadt_an_der_Weinstra%C3%9Fe#20th_century
Occupation of the Rhineland
https://en.wikipedia.org/wiki/Occupation_of_the_Rhineland#Siamese_Expeditionary_Forces
Leave a Reply