สิทธิลงคะแนนเสียง ของคนผิวสียุคจิมโครว์ ที่ถูกกีดกัน กับการสรรหา วุฒิสมาชิกไทย

,
Thai parliament

บทความนี้เขียนในช่วงของการรับสมัครสมาชิกวุฒิสภาปี 2024 ซึ่งถ้าใครมีโอกาสได้ศึกษา “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561” รวมถึงกฎระเบียบซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการในฐานะคณะกรรมการตามมาตรา 4 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่ามีความไม่ปกติ ผิดวิสัยของการคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามรูปแบบที่เป็นสากลเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่ความพยายามไม่เรียกการคัดเลือกว่า “การเลือกตั้ง” ทั้งที่เป็นการคัดเลือกโดยการลงคะแนนอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ การกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิสมัครตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ผู้มีสิทธิสมัครรับการคัดเลือกเท่านั้นจึงจะสามารถใช้ สิทธิลงคะแนนเสียง เลือกคนที่เห็นว่าเหมาะสมเข้าไปเป็น สมาชิกวุฒิสภาได้ (รวมทั้งตัวเองด้วย) มีการเรียกเก็บเงินจำนวน 2,500 บาท และมีการกำหนดโทษของการทุจริต หรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎระเบียบที่ยิบย่อย ซ้ำซ้อน สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ รวมถึงผู้ที่ประสงค์ที่จะไปใช้สิทธิเลือกคนที่ตนเห็นว่ามีความสามารถต้องถูกตัดสิทธิ หรือเกรงกลัวว่าอาจจะไปกระทำผิดตามกฏเกณฑ์ที่ยิบย่อยโดยไม่รู้ตัว จนทำให้ไม่กล้าที่จะลงสมัคร

สารบัญ

เลือกสมาชิกวุฒิสภา อะไรคือปัญหา ?

ตามความเห็นของบุคคลต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมากที่เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ถึงกฎเกณฑ์เหล่านี้ผ่านทางสื่อสารมวลชน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า วิธีการดังกล่าวมีความซับซ้อน ยุ่งเหยิง รวมถึงมีการปกปิดข้อมูลที่ประชาชนควรได้รับรู้ กีดกันไม่ให้บุคคลทั่วไปเข้าไปรู้เห็นหรือสังเกตการณ์การดำเนินการเพื่อคัดเลือกในครั้งนี้ หลายคนถึงกับกล่าวว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่พิสดารที่สุดในโลก ไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน

จากการที่เป็นคนชอบศึกษาประวัติศาสตร์ต่างประเทศผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเรื่องสิทธิพลเมือง (Civil Right) ทั้งในอเมริกา ยุโรป และอินเดีย โดยส่วนตัวมีความเห็นว่ากฎเกณฑ์เหล่านี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้มีความซับซ้อน (complex or complicated) เพื่อให้การสรรหามีคุณภาพหรือประสิทธิภาพอะไร แต่เป็นการจงใจออกแบบมาเพื่อให้เกิดความยุ่งยาก สับสน (confused) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “มั่ว” วิธีการลักษณะนี้ไม่ใช่เพิ่งปรากฏขึ้นในโลกปัจจุบัน แต่เกิดขึ้นมานานนับร้อยปีแล้ว และมักใช้เพื่อเป็นการกีดกัน หรือระงับ สิทธิลงคะแนนเสียง เลือกตั้งสำหรับพลเมืองบางกลุ่มหรือบางส่วนที่ผู้มีอำนาจทางสังคมดั้งเดิมเห็นว่าอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงกับสถานภาพของกลุ่มของพวกตน โดยเฉพาะสถานภาพในอำนาจทางการเมืองและการปกครอง

คงไม่สามารถบอกได้หรอกนะครับว่า กฎเกณฑ์ที่ออกแบบเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาของไทยปัจจุบัน ผู้ออกแบบมีจุดประสงค์อะไรซ่อนเร้นอยู่หรือไม่ แต่การที่อำนาจของวุฒิสภานั้นแทบไม่มีขอบเขตจำกัด มีมากกว่าสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเสียด้วยซ้ำไป กลุ่มอำนาจเดิมคงยากที่จะยอมให้เครื่องมือนี้หลุดรอดไปเป็นของกลุ่มอื่นๆหรือของประชาชนอย่างแน่นอน

อยากจะขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศที่ถือกันว่า ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากที่สุดในโลกเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้วมาให้นำมาใช้เปรียบเทียบกันครับ

Red white blue image with American Flag and Ballot Box for Voting
CC0 Public Domain

สหรัฐอเมริกาดินแดนแห่งเสรีภาพและความเท่าเทียม?

สหรัฐอเมริกา ประเทศที่ชาวอเมริกันมีความภาคภูมิใจเหลือเกินว่าเป็นดินแดนแห่งเสรี เพลงชาติของอเมริกา “The Star-Spangled Banner” ทุกบรรทัดสุดท้ายของแต่ละท่อนจะบอกว่า “O’er the land of the free and the home of the brave” ซึ่งคนทั่วโลกก็ให้การยอมรับและมีไม่น้อยที่ใฝ่ฝันอยากจะได้เป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกา ส่วนในปัจจุบันความเชื่อนี้จะยังคงเป็นจริงอยู่หรือไม่ คงต้องพิจารณากันเองครับ

การใช้สิทธิลงคะแนนเพื่อเลือกตัวแทนเข้าไปทำงานในรัฐบาลเป็นคุณลักษณะสำคัญของระบอบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนซึ่งพลเมืองของประเทศนี้ใช้มาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ หลังการต่อสู้เพื่อหลุดพ้นจากเจ้าเหนือหัวอังกฤษ สิทธิในการลงคะแนนเสียงเป็นหลักพื้นฐานของประเทศที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งให้สัตยาบันในปี 1789 (ปีเดียวกับการปฏิวัติฝรั่งเศส) แต่ก็มิได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าใครบ้างที่ได้สิทธินี้ ส่วนใหญ่แล้วจึงไปตกอยู่ที่ชายผู้ครอบครองทรัพย์สินเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหายุ่งยากอะไร เพราะความเป็นพลเมืองของประเทศจำกัดอยู่เฉพาะคนผิวขาวเท่านั้น

"The Rail Splitter Repairing the Union" — a political cartoon of Andrew Johnson and Abraham Lincoln from 1865, during the Reconstruction era of the United States (1863–1877).
Lincoln and Johnson : Joseph E. Baker, Public domain, via Wikimedia Commons

หลังสงครามกลางเมือง ในช่วงยุคฟื้นฟู (Reconstruction Era :1865-1877) ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งสำคัญสามครั้งคือ ครั้งที่สิบสามเพื่อยกเลิกการมีทาสทั้งหมด ครั้งที่สิบสี่มีหลายส่วนที่สำคัญคือกำหนดให้บุคคลทุกคนที่เกิดหรือแปลงสัญชาติในสหรัฐอเมริกา และอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลดังกล่าว เป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกา (แน่นอนว่ารวมถึงอดีตทาสด้วย) รวมถึงการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่เท่าเทียมกัน และครั้งที่สิบห้าในเรื่องการให้สิทธิแก่ชายอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันหรือคนผิวสีในการลงคะแนนเสียง

คนผิวขาวในรัฐทางใต้ส่วนใหญ่ที่เป็นอดีตสมาพันธรัฐ มีความไม่พอใจคนผิวสีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะมีทัศนคติว่าพวกตนเป็นใหญ่ ส่วนคนผิวสีซึ่งส่วนใหญ่เป็นทาส มิได้มีสถานภาพเป็นพลเมือง แต่เป็นเพียงแค่ทรัพย์สิน (property) เท่านั้น สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในปี 1861 ถึงปี 1865 ซึ่งได้คร่าชีวิตชาวอเมริกันกว่าร้อยละสองรวมถึงความเสียหายอีกมากมาย ก็มีสาเหตุจากเรื่องนี้ การที่ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันได้สิทธิต่างๆเท่าเทียมกับพวกตนจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ แต่เมื่อเป็นผู้แพ้สงครามจึงต้องเก็บความไม่พอใจไว้ในใจเท่านั้น

ระหว่างยุคฟื้นฟู รัฐบาลกลางยังคงกำลังทหารไว้ในรัฐภาคใต้ ทำให้คนผิวสีซึ่งได้รับความคุ้มครองอยู่มากกว่าครึ่งล้านคน ได้เข้าร่วมลงคะแนนเสียง ส่งผลให้พวกเขาเกือบสองพันคน ได้เข้ารับตำแหน่งในองค์กรสาธารณะ มีชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน 17 คนได้รับเลือกสู่สภาคองเกรส (วุฒิสมาชิก 2 คนและผู้แทนราษฎร 15 คน) นับเป็นความสั่นสะเทือนทางสถานภาพของคนผิวขาวเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นต้องหาวิธีการมาใช้เพื่อกีดกันหรือจำกัดสิทธิการเลือกตั้งของคนเหล่านี้ จนเมื่อรัฐบาลกลางถอนกำลังกลับไปเมื่อสิ้นสุดยุคฟื้นฟูในปี 1877 จึงเป็นโอกาสให้สามารถใช้วิธีการหรือกฎหมายของรัฐเพื่อแบ่งแยกและจำกัดสิทธิคนผิวสีอย่างเป็นระบบ มีการเผยแพร่ ส่งต่อกันในเขตภาคใต้เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติ วิธีการเหล่านี้เรียกว่า จิมโครว์ (Jim Crow) หากออกมาเป็นกฎหมายก็เรียกว่า Jim Crow Laws ซึ่งได้มีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทศวรรษ 1960

จิมโครว์คืออะไร (What was Jim Crow?)

จิมโครว์ (Jim Crow) ไม่ใช่ชื่อของบุคคล แต่เป็นชื่อของระบบวรรณะทางเชื้อชาติซึ่งดำเนินการอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่เฉพาะในรัฐทางตอนใต้และชายแดนเท่านั้น ระหว่างปี 1877 ถึงกลางทศวรรษที่ 1960 จิมโครว์เป็นมากกว่ากฎการต่อต้านคนผิวสีที่เข้มงวด แต่เป็นวิถีชีวิตของผู้คน ภายใต้วิถีของจิมโครว์ ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันถูกลดสถานะให้เป็นเพียงแค่พลเมืองชั้นสอง จึงอาจกล่าวได้ว่า จิมโครว์ เป็นตัวแทนของความชอบธรรมในการเหยียดเชื้อชาติ และการต่อต้านคนผิวสี

การกีดกัน สิทธิลงคะแนนเสียง เลือกตั้งของคนผิวสีในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา

หลังยุคฟื้นฟู (Reconstruction era) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน หรือคนผิวสีต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญในการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงของตน แม้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 15 ในปี 1870 ซึ่งห้ามการปฏิเสธ สิทธิลงคะแนนเสียง โดยการอ้างถึง เชื้อชาติ สีผิว หรือสภาพความเป็นทาสในอดีต แล้วก็ตาม

ช่วงรอยต่อระหว่างหลังสงครามกลางเมืองไปจนสิ้นสุดยุคฟื้นฟู รัฐทางภาคใต้ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสมาพันธรัฐเดิม (Confederation) มีการใช้วิธีการหลายวิธีของรัฐ โดยออกเป็นกฎหมายหรือกฎเกณฑ์เพื่อใช้เพิกถอนหรือขัดขวางสิทธิของผู้ลงคะแนนเสียงชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ทั้งนี้พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ วิธีการดังกล่าวประกอบไปด้วย

Poll Tax receipt for Rosa Boyles of Jefferson County, Alabama, October 22, 1920
Poll Tax receipt County, Alabama, 1920 : Public domain, via Wikimedia Commons

ภาษีการเลือกตั้ง(Poll Taxes)

รัฐทางใต้หลายแห่งบังคับใช้ภาษีการเลือกตั้ง โดยกำหนดให้ประชาชนต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการลงคะแนนเสียง ภาษีเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างไม่สมส่วนต่อชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นคนยากจนข้นแค้นเนื่องจากการเลือกปฏิบัติทางประวัติศาสตร์และความแตกต่างทางเศรษฐกิจ คนเหล่านี้จำนวนมากแม้มีสิทธิในการเลือกตั้งตามกฎหมาย แต่ก็ไม่สามารถจ่ายภาษีได้ พลเมืองที่เป็นคนผิวสีจำนวนมากจึงขาดโอกาสในการใช้สิทธิเพื่อลงคะแนนเสียง

ภาษีการเลือกตั้ง(Poll Taxes) คือเงินที่พลเมืองผู้ใหญ่ทุกคนจ่ายรายหัวเป็นจำนวนเท่ากัน (poll หมายถึงหัว) โดยไม่คำนึงถึงสัดส่วนของรายได้หรือสถานการณ์เฉพาะใดๆ ก่อนกลางศตวรรษที่ 20 ยังมีบางรัฐกำหนดให้ประชาชนต้องจ่ายภาษีการเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการลงคะแนนเสียง

ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ภาษีการเลือกตั้งเป็นค่าธรรมเนียมที่ประชาชนต้องจ่ายเพื่อลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งสาธารณะ หากพวกเขาไม่สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมได้ พวกเขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงคะแนนเสียง ภาษีเลือกตั้งถูกนำมาใช้ทั่วรัฐทางใต้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อเป็นช่องทางในการเพิกถอนสิทธิของผู้ลงคะแนนเสียงชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักมีฐานะยากจน เนื่องจากเพิ่งได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาส ภาษีเหล่านี้มักมาพร้อมกับข้อกำหนดของท้องถิ่นที่เข้มงวดในการกำหนดเวลาการชำระเงิน ซึ่งทำให้กระบวนการลงคะแนนเสียงสำหรับชุมชนชายขอบมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นวิธีการกีดกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพอีกวิธีหนึ่ง เพราะเมื่อพลเมืองผิวสีจำนวนมากไม่สามารถลงคะแนนเสียงได้ ก็จะไปบ่อนทำลายอำนาจทางการเมืองของพวกเขา และทำให้อำนาจสูงสุดของคนผิวขาวยังคงดำรงอยู่ต่อไป

อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงมิได้มีเพียงคนผิวสีเท่านั้นที่มีฐานะยากจน คนผิวขาวเองจำนวนไม่น้อยก็ประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน เพื่อช่วยเหลือคนผิวขาวที่มีฐานะยากจนที่มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถจ่ายภาษีเลือกตั้งได้ จึงได้มีการออกกฎหมายที่เรียกว่า “กฎหมายบรรพบุรุษ” (Grandfather Clauses) บัญญัติให้ยกเว้นผู้ที่บรรพบุรุษเคยมีสิทธิเลือกตั้งก่อนสงครามกลางเมืองไม่ต้องจ่ายภาษีการเลือกตั้ง ซึ่งก็จะมีแต่เฉพาะคนผิวขาวเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้

เหตุการณ์สำคัญประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับภาษีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในกรณีของ บรีดเลิฟ กับ ซัตเทิลส์ (Breedlove v. Suttles 1937) ซึ่งศาลสูงของสหรัฐได้ตัดสินโดยยึดถือตามกฎหมายภาษีการเลือกตั้งของรัฐจอร์เจีย การตัดสินครั้งนี้จึงเป็นการตอกย้ำถึงความเข้มแข็งของกระบวนการเพื่อเพิกถอนสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันในภาคใต้ได้เป็นอย่างดี

นักเคลื่อนไหวและองค์กรอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน เช่น NAACP ได้ดำเนินการต่อสู้เพื่อให้มีการยกเลิกภาษีการเลือกตั้งด้วยวิธีทางกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 24 ในปี 1964 จึงได้มีการยกเลิกการใช้ภาษีการเลือกตั้งในการเลือกตั้งระดับรัฐบาลกลาง และต่อมาศาลสูงของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศให้ภาษีเหล่านี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญในการเลือกตั้งระดับรัฐในคดีของ ฮาร์เปอร์ กับ คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งรัฐเวอร์จิเนียในปี 1966

การยกเลิกภาษีเลือกตั้ง (Abolishing Poll Taxes)

ภาษีการเลือกตั้งยังคงมีการบังคับใช้อยู่ในภาคใต้จนถึงกลางศตวรรษที่ 20 บางรัฐยุติการเก็บภาษีการเลือกตั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ขณะที่บางรัฐยังคงเก็บภาษีดังกล่าวอยู่ ในที่สุดภาษีเลือกตั้งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในสหรัฐอเมริกาก็ถูกยกเลิกในทศวรรษ 1960 จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 24 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 1964 บัญญัติให้การใช้ภาษีเลือกตั้งขัดต่อรัฐธรรมนูญในการเลือกตั้งระดับรัฐบาลกลาง อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งอื่นๆเช่นการเลือกตั้งท้องถิ่น ยังคงมีการบังคับใช้ภาษีเลือกตั้งอยู่ จนกระทั่งปี 1966 ศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกาได้มีคำตัดสินในคดีของฮาร์เปอร์ กับ คณะกรรมการเลือกตั้งของรัฐเวอร์จิเนีย (Harper v. Virginia Board of Electors) ซึ่งระบุว่าไม่สามารถกำหนดให้ประชาชนต้องเสียภาษีการเลือกตั้งเพื่อลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั้งในระดับรัฐและในระดับท้องถิ่น ศาลถือว่าภาษีเลือกตั้งละเมิดต่อบทบัญญัติของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่สิบสี่ (the Fourteenth Amendment) ซึ่งรับประกันการคุ้มครองที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคนภายใต้กฎหมาย

Cartoon showing Uncle Sam writing on wall, "Eddikashun qualifukashun. The Black man orter be eddikated afore he kin vote with US Wites, signed Mr. Solid South."
Cartoon showing Uncle Sam writing on wall : Image from Library of Congress, No known restrictions on publication.

การทดสอบการรู้หนังสือ(Literacy Tests)

กลยุทธ์ทั่วไปอีกประการหนึ่งคือการกำหนดให้มีการทดสอบการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องแสดงความสามารถในการอ่านและตีความส่วนหนึ่งส่วนใดของรัฐธรรมนูญ หรือเอกสารที่ซับซ้อนอื่นๆ การทดสอบเหล่านี้มักดำเนินการในลักษณะที่เลือกปฏิบัติ โดยชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันต้องเผชิญกับคำถามที่ยากกว่าหรือจงใจให้ข้อความที่สับสนในการตีความ

การทดสอบการรู้หนังสือถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในรัฐทางตอนใต้หลังยุคฟื้นฟู (Reconstruction era) โดยมักจะอ้างว่ามีไว้เพื่อให้แน่ใจว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีความสามารถในการรับข้อมูลต่างๆอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ การทดสอบเหล่านี้มักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกีดกันผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน โดยพวกเขาต้องเผชิญกับคำถามที่ยากกว่าที่ควรจะเป็น หรือจงใจสร้างข้อความที่ทำให้เกิดความสับสนจนไม่สามารถผ่านการทดสอบได้ ในขณะที่คนผิวขาวจะได้รับคำถามง่ายๆ ไม่มีความซับซ้อนใดๆ หรืออาจได้รับการช่วยเหลือจากกรรมการคุมสอบเพื่อให้สามารถผ่านการทดสอบไปได้

อัตราการไม่รู้หนังสือในหมู่ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันในขณะนั้นมีสัดส่วนที่สูงมาก เนื่องจากความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาในอดีตอันเป็นผลมาจากการเป็นทาสและการแบ่งแยก ในบางรัฐมีบทลงโทษทาสที่แอบเรียนหนังสือ ด้วยการใช้ประโยชน์จากความแตกต่างนี้ รัฐทางตอนใต้จึงสามารถตัดสิทธิผู้ลงคะแนนเสียงผิวดำและรักษาอำนาจทางการเมืองของคนผิวขาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Political cartoon from The Caucasian of Raleigh criticizing the Suffrage Amendment's literacy test in North Carolina for potentially disenfranchising the poor and creating a political oligarchy
Political cartoon from The Caucasian of Raleigh : unknown, The Caucasian, Public domain, via Wikimedia Commons

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเช่นเดียวกับการจ่ายภาษีเลือกตั้งสำหรับคนผิวขาวในเรื่องการอ่านออกเขียนได้ก็มีอยู่มากเช่นเดียวกัน เพราะไม่ใช่ว่าคนผิวขาวทุกคนจะรู้หนังสือ กฎหมายบรรพบุรุษจึงมีบทบัญญัติยกเว้นในเรื่องนี้ไว้ด้วยเช่นเดียวกัน

ปัจจุบันในโลกออนไลน์ มีผู้ทดลองนำเอาแบบทดสอบเหล่านั้นมาทำ แล้วนำเสนอผ่านเว็บไซต์ หรือทาง YouTube จำนวนมาก ตัวอย่างเช่น แบบทดสอบการรู้หนังสือของรัฐลุยเซียนาปี 1964 ซึ่งใช้ทดสอบผู้ที่ไม่สำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 5 มีจำนวน 30 ข้อ ต้องทำให้เสร็จภายในเวลา 10 นาที หากทำผิดแม้แต่เพียงข้อเดียวถือว่าสอบไม่ผ่าน ลองหาแบบทดสอบนี้ทำดูนะครับ

กฎหมายบรรพบุรุษ (Grandfather Clauses)

ในบางรัฐได้ตรา “กฎหมายบรรพบุรุษ” ซึ่งกำหนดให้มีการยกเว้นบุคคลจากการทดสอบการรู้หนังสือหรือการเสียภาษีเลือกตั้ง หากบรรพบุรุษของพวกเขาเคยมีสิทธิลงคะแนนเสียงก่อนสงครามกลางเมือง เป็นที่รู้กันดีว่าชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันส่วนใหญ่ตกเป็นทาส หรือถูกปฏิเสธสิทธิในการลงคะแนนเสียงก่อนเกิดสงครามกลางเมือง(ก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 15) กฎเกณฑ์เหล่านี้จึงเป็นประโยชน์เฉพาะคนผิวขาวที่มีฐานะยากจนหรือไม่รู้หนังสือซึ่งในขณะนั้นก็มีจำนวนอยู่ไม่น้อยเช่นกัน แต่มันจะไม่มีผลดีอะไรต่อสิทธิในการเลือกตั้งของคนผิวสีเลย เพราะพวกเขายังต้องจ่ายภาษีเลือกตั้งและต้องทดสอบการรู้หนังสืออยู่เหมือนเดิม

กฎหมายบรรพบุรุษ ถูกนำมาใช้ในรัฐทางใต้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อเป็นหนทางในการหลีกเลี่ยงการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 15 และรักษาอำนาจสูงสุดทางการเมืองของคนผิวขาว กฎเกณฑ์เหล่านี้ยกเว้นบุคคลจากการทดสอบการอ่านออกเขียนได้หรือภาษีการเลือกตั้ง หากบรรพบุรุษของพวกเขามีสิทธิลงคะแนนเสียงก่อนสงครามกลางเมือง โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อช่วยเหลือคนผิวขาวที่มีฐานะยากจน ให้ได้รับการยกเว้นจากการจ่ายภาษีเลือกตั้ง และเพื่อให้คนผิวขาวที่ไม่รู้หนังสือได้รับการยกเว้นจากการทดสอบการรู้หนังสือ

เนื่องจากชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันส่วนใหญ่ตกเป็นทาสหรือปฏิเสธสิทธิในการลงคะแนนเสียงก่อนเกิดสงครามกลางเมือง กฎหมายบรรพบุรุษจึงแยกพวกเขาออกจากการลงคะแนนเสียงอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็ปกป้องสิทธิในการลงคะแนนเสียงของพลเมืองผิวขาว สิ่งนี้ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางเชื้อชาติและนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิ์ของคนผิวสีในเวลาเดียวกัน

กรณีของไจล์ส กับ แฮร์ริส (Giles v. Harris 1903) ทำให้เห็นได้ว่าศาลสูงของสหรัฐสนับสนุนกฎหมายบรรพบุรุษของรัฐอลาบามา ซึ่งตอกย้ำสิทธิของรัฐในการเพิกถอนสิทธิผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันผ่านกฎหมายที่เลือกปฏิบัติ

การใช้กฎหมายเพื่อต่อสู้กับความไม่ยุติธรรม เช่นในคดีบูคานัน กับ วอร์ลี่ (Buchanan v. Warley 1917) มีส่วนทำให้เกิดการเซาะกร่อนบ่อนทำลายกฎหมายบรรพบุรุษอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ กฎหมายสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนปี 1965 (the Voting Rights Act of 1965) ยังมุ่งเป้าไปที่แนวทางปฏิบัติในการลงคะแนนเสียงแบบเลือกปฏิบัติ ซึ่งรวมถึงแนวทางปฏิบัติที่มาจากกฎหมายบรรพบุรุษ โดยจัดให้มีการกำกับดูแลขั้นตอนการเลือกตั้งของรัฐบาลกลางในรัฐที่มีประวัติการกีดกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน

ในกรณีของ กวินน์ กับ สหรัฐอเมริกา (Guinn v. United States 1915) ศาลสูงของสหรัฐได้ตัดสินให้กฎหมายบรรพบุรุษของรัฐโอคลาโฮมา ซึ่งยกเว้นผู้มีสิทธิเลือกตั้งผิวขาวที่ไม่รู้หนังสือจากการทดสอบการอ่านออกเขียนได้ ขณะเดียวกันก็ตัดสิทธิ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งผิวดำที่ไม่รู้หนังสือเป็นโมฆะ การตัดสินครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อวิธีการและกระบวนการที่ใช้เพื่อกีดกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ร้ายแรงที่สุดอีกครั้งหนึ่ง

Political cartoon "Of Course He Wants To Vote The Democratic Ticket" (October 1876), from page 848 of Harper's Weekly, showing Democrats in what is presumably Tennessee trying to intimidate a voter into voting for the Democrats under duress at gunpoint.
Frost, Public domain, via Wikimedia Commons

การใช้ความรุนแรงและการข่มขู่ (Violence and Intimidation)

ชาวแอฟริกันอเมริกันที่พยายามใช้สิทธิในการลงคะแนนเสียงมักเผชิญกับภัยคุกคาม การคุกคาม และความรุนแรงจากกลุ่มที่ถือลัทธิเชิดชูคนผิวขาว เช่นกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Ku Klux Klan ซึ่งเป็นองค์กรลับก่อตั้งขึ้นเพื่อคุกคามชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันและป้องกันไม่ให้พวกเขาใช้สิทธิในการลงคะแนนเสียง การลงประชาทัณฑ์ การทุบตี และการข่มขู่เป็นรูปแบบที่ใช้ทั่วไปอย่างกว้างขวางโดยที่เจ้าหน้าที่รัฐและกระบวนการยุติธรรมเพิกเฉย หรือบางครั้งก็ให้ความช่วยเหลือผู้กระทำความผิดเสียเอง

Ku Klux Klan Robe and Hood - Birmingham Civil Rights Institute - Birmingham - Alabama - USA
Ku Klux Klan Robe and Hood : Adam Jones from Kelowna, BC, Canada, CC BY-SA 2.0 , via Wikimedia Commons

การคุกคามและความรุนแรงสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ลงคะแนนเสียงชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ทำให้พวกเขาท้อแท้จากการพยายามลงทะเบียนหรือลงคะแนนเสียง ความรุนแรงนี้ยังเป็นวิธีการรักษาการควบคุมทางการเมืองของคนผิวขาวและเสริมสร้างลำดับชั้นทางเชื้อชาติให้ดำรงอยู่ต่อไปในสังคม

การเดินขบวนประท้วงจากเซลมาถึงมอนต์โกเมอรี่ในปี 1965 อาจเป็นตัวอย่างที่มีชื่อเสียงที่สุดของการต่อต้านการข่มขู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การเดินขบวนเหล่านี้นำโดยผู้นำด้านสิทธิพลเมือง เช่น มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) มีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงความสนใจของสังคมไปที่การใช้ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผิวสีที่ต้องเผชิญอยู่ในรัฐทางภาคใต้ และท้ายที่สุดนำก็ไปสู่การผ่านกฎหมายสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนในปีนั้นเอง

ชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันและพันธมิตรได้จัดการประท้วงด้วยสันติวิธี การประท้วง และการรณรงค์การทำอารยะขัดขืนของพลเมืองเพื่อเผชิญหน้ากับการข่มขู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและเรียกร้องสิทธิในการลงคะแนนเสียงที่เท่าเทียมกัน การแทรกแซงของรัฐบาลกลาง เช่น การส่งกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ (National Guard) เพื่อปกป้องผู้เดินขบวนระหว่างการเดินขบวนที่เซลมาถึงมอนต์โกเมอรี่ ยังช่วยต่อต้านกลยุทธ์การข่มขู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกทางหนึ่งด้วย

วิธีการอื่นๆ (Other Methods)

พรรคขาวล้วน (All-white primaries) เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นำมาใช้ในการตัดสิทธิผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 เป็นแนวทางปฏิบัติที่ใช้โดยพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคเดโมแครต (Democratic Party) เพื่อกีดกันชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันไม่ให้เข้าร่วมในการเลือกตั้งขั้นต้น (primary elections) ส่งผลให้พวกเขาไม่มีเสียงในกระบวนการคัดเลือกผู้สมัครอย่างมีประสิทธิภาพ

พรรคขาวล้วนถูกฟ้องร้องในศาลโดยนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันและองค์กรสิทธิพลเมือง โดยยืนยันว่าการกระทำเหล่านี้ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 15 ซึ่งรับประกันสิทธิในการลงคะแนนเสียงโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ในคดี Smith v. Allwright (1944) ศาลสูงของสหรัฐอเมริกาตัดสินว่าการกระทำของพรรคเดโมแครตในเท็กซัสนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิในการลงคะแนนเสียงของชาวแอฟริกันอเมริกัน

วิธีการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของคนผิวสี

การเพิกถอนสิทธิ การกีดกัน และการต่อต้านเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนและเป็นที่ถกเถียงกันของสิทธิในการลงคะแนนเสียงของชาวแอฟริกันอเมริกันในสหรัฐอเมริกา โดยเน้นย้ำถึงการต่อสู้อย่างต่อเนื่องเพื่อความเท่าเทียมทางเชื้อชาติและเพื่อความยุติธรรม

แม้จะมีอุปสรรคมากมาย ชาวแอฟริกันอเมริกันและพันธมิตรก็ใช้วิธีการต่างๆ เพื่อต่อต้านการกีดกัน การเพิกถอนสิทธิ และต่อสู้เพื่อสิทธิในการลงคะแนนเสียงของตนโดยการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มจัดให้มีกิจกรรมต่างๆดังนี้

นักเคลื่อนไหวและองค์กรชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน เช่น NAACP (National Association for the Advancement of Colored People)ซึ่งรวมตัวกันก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 กิจกรรมของคนกลุ่มนี้นอกจากให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายต่อชาวคนผิวดำแล้ว กิจกรรมหลักจะเป็นการทดสอบการใช้กฎหมายโดยการอ้างอิงสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมายต่อกฎหมายของรัฐใดที่มีการเลือกปฏิบัติในการลงคะแนนเสียง กรณีสำคัญๆ เช่น Guinn v. United States (1915) และ Smith v. Allwright (1944) การดำเนินการเช่นนี้จะเป็นการช่วยขจัดข้อจำกัดในการลงคะแนนเสียงในยุคจิมโครว์ได้ในระดับหนึ่ง

การให้การศึกษาและการระดมผู้มีสิทธิเลือกตั้ง(Voter Education and Mobilization)

ผู้นำด้านสิทธิพลเมืองและผู้จัดงานระดับรากหญ้า จะจัดให้มีกิจกรรมการรณรงค์ให้ความรู้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อแจ้งให้ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันทราบเกี่ยวกับสิทธิของตน และให้กำลังใจ ปลุกความเชื่อมั่นในตนเอง เพื่อให้พวกเขาเอาชนะอุปสรรคต่างๆ เช่น การทดสอบการอ่านออกเขียนได้ ความพยายามในการลงทะเบียนผู้ลงคะแนนเสียงผิวสี กิจกรรมเหล่านี้จะเป็นการเพิ่มจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ ถือเป็นหัวใจสำคัญของขบวนการสิทธิพลเมืองในช่วงทศวรรษ 1950 ถึง 1960

On March 21, 1965, demonstrators began marching from Selma to Montgomery for voting rights.
Selma to Montgomery marching : TradingCardsNPS, CC BY 2.0 , via Wikimedia Commons

อารยะขัดขืนและการประท้วง(Civil Disobedience and Protest)

ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันและพันธมิตรของพวกเขา มีส่วนร่วมในการกระทำอารยะขัดขืน และการประท้วงเพื่อดึงความสนใจของสังคมไปที่ความอยุติธรรมของวิธีการและกระบวนการที่ใช้เพื่อกีดกันการผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมถึงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกกระบวนการต่างๆเหล่านั้น เหตุการณ์หลายเหตุการณ์ เช่น การเดินขบวนระหว่างเซลมาถึงมอนต์โกเมอรี่ในปี 1965 (Selma to Montgomery marches 1965) เน้นย้ำให้เห็นถึงความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติที่ผู้ลงคะแนนเสียงผิวดำในภาคใต้ต้องเผชิญได้เป็นอย่างดี

การแทรกแซงของรัฐบาลกลาง (Federal Intervention)

รัฐบาลกลางมีบทบาทสำคัญในการปกป้องสิทธิในการลงคะแนนเสียงของชาวอเมริกันเชื้อสายแอริกันผ่านทางกฎหมาย เช่น กฎหมายสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนปี 1965 (Voting Rights Act of 1965) กฎหมายสำคัญฉบับนี้ห้ามการลงคะแนนเสียงแบบเลือกปฏิบัติ รัฐบาลกลางมีอำนาจในการกำกับดูแลขั้นตอนการเลือกตั้งโดยเฉพาะในรัฐที่มีประวัติการกีดกันผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

แม้จะมีความพยายามเหล่านี้ แต่ความท้าทายต่อสิทธิในการลงคะแนนเสียงของชาวแอฟริกันอเมริกันยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยเน้นย้ำถึงการต่อสู้อย่างต่อเนื่องเพื่อความเท่าเทียมทางเชื้อชาติและความยุติธรรมในสหรัฐอเมริกา

NAACP คืออะไร

NAACP (National Association for the Advancement of Colored People) เป็นองค์กรอเมริกันชาติพันธุ์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการยกเลิกการแบ่งแยกและการเลือกปฏิบัติในด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา การจ้างงาน การลงคะแนนเสียง และการขนส่ง เพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ และเพื่อให้มั่นใจว่าชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ NAACP ก่อตั้งขึ้นในปี 1909 โดยกลุ่มชาติพันธุ์ที่ประกอบด้วย W.E.B. Du Bois, Ida Bell Wells-Barnett, Mary White Ovington และคนอื่นๆอีกจำนวนหนึ่ง

Holding a poster against racial bias in Mississippi in 1956, are four of the most active leaders in the NAACP movement.
NAACP leaders with poster NYWTS : New York World-Telegram and the Sun staff photographer: Al Ravenna, Public domain, via Wikimedia Commons

ในด้านปัญหาสิทธิการเลือกตั้ง NAACP มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเพิกถอนสิทธิที่ชาวแอฟริกันอเมริกันต้องเผชิญ ซึ่งรวมถึงความท้าทายต่างๆ เช่น การเลือกตั้งขั้นต้นที่เป็นคนผิวขาวทั้งหมด ภาษีการเลือกตั้ง การทดสอบการอ่านออกเขียนได้ และการกีดกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งในรูปแบบอื่นๆ

กิจกรรมสำคัญที่ดำเนินการโดย NAACP

กองทุนป้องกันทางกฎหมาย (Legal Defense Fund / LDF) ของ NAACP ใช้การดำเนินคดีเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการท้าทายกฎหมายและแนวปฏิบัติในการลงคะแนนเสียงที่เลือกปฏิบัติในศาล พวกเขาเลือกกรณีเชิงกลยุทธ์ที่อาจมีผลกระทบในวงกว้างต่อสิทธิพลเมืองและความเท่าเทียมกันทางเชื้อชาติ กรณีสำคัญๆ เช่น Guinn v. United States (1915), Smith v. Allwright (1944) และ Brown v. Board of Education (1954) เป็นหนึ่งในหลายกรณีที่ถูก NAACP ติดตามเพื่อต่อสู้กับการปราบปรามผู้มีสิทธิเลือกตั้งและเพิ่มสิทธิพลเมือง

การสนับสนุนและการล็อบบี้ (Advocacy and Lobbying)

NAACP มีส่วนร่วมในการสนับสนุนเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับกลยุทธ์การปราบปรามผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และระดมการสนับสนุนสำหรับการปฏิรูปกฎหมาย พวกเขาล็อบบี้สมาชิกสภานิติบัญญัติในระดับรัฐและรัฐบาลกลางเพื่อตรากฎหมายที่คุ้มครองสิทธิในการลงคะแนนเสียง และยกเลิกแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ เช่น ภาษีการเลือกตั้ง การทดสอบการอ่านออกเขียนได้ และการเลือกตั้งขั้นต้นของคนผิวขาว

A group of African-American children gather around a sign and booth to register voters. Early 1960s.
Register to vote : Kheel Center, Cornell University, CC BY 2.0 , via Wikimedia Commons

การให้การศึกษาและการลงทะเบียนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (Voter Education and Registration)

NAACP ดำเนินการรณรงค์ให้ความรู้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อแจ้งให้ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันทราบเกี่ยวกับสิทธิของพวกเขา และให้อำนาจพวกเขาเอาชนะอุปสรรคในการลงคะแนนเสียง พวกเขาจัดหาทรัพยากรและความช่วยเหลือเพื่อช่วยให้พลเมืองผิวสีดำเนินกระบวนการลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและเข้าใจสิทธิทางกฎหมายของพวกเขา

การจัดระเบียบชุมชน (Community Organizing)

NAACP ทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนท้องถิ่นและองค์กรระดับรากหญ้าเพื่อจัดการประท้วง การคว่ำบาตร และการดำเนินการโดยตรงในรูปแบบอื่นๆ เพื่อเรียกร้องให้ยุติการกีดกันผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองในหมู่ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน

NAACP ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและการเป็นตัวแทนแก่บุคคลที่เผชิญกับการเลือกปฏิบัติหรือการข่มขู่เมื่อพยายามใช้สิทธิในการลงคะแนนเสียง พวกเขาต่อสู้กับกลวิธีข่มขู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและปกป้องสิทธิของชาวแอฟริกันอเมริกันในการเข้าร่วมอย่างเต็มที่ในกระบวนการประชาธิปไตย

โดยรวมแล้ว ความพยายามของ NAACP มีส่วนสำคัญในการท้าทายแนวทางปฏิบัติในการลงคะแนนเสียงแบบเลือกปฏิบัติ และส่งเสริมสาเหตุของสิทธิพลเมืองและความยุติธรรมทางเชื้อชาติในสหรัฐอเมริกา ชัยชนะทางกฎหมายและงานสนับสนุนของพวกเขามีส่วนสำคัญในการผ่านกฎหมายสำคัญๆ ในที่สุด เช่น กฎหมายสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนปี 1965 ซึ่งให้ความคุ้มครองที่สำคัญสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสียงข้างน้อย และช่วยขจัดอุปสรรคที่เป็นระบบต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ต้องต่อสู้จึงจะได้มา

สิทธิการเลือกตั้งนับเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีตัวแทนเข้าไปบริหารประเทศ เพราะหากประชาชนกลุ่มใดไม่มีตัวแทนเข้าไป สมดุลย์ทางอำนาจย่อมสูญเสียไปด้วย ยิ่งกลุ่มของตนเป็นประชากรเสียงส่วนน้อย สิทธิและผลประโยชน์ในทุกด้านก็อาจถูกเพิกเฉยไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ต้องการ

การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการเลือกตั้ง และสิทธิพลเมืองทุกด้านเช่น ความเท่าเทียมทางการศึกษา การสาธารณสุข รวมถึงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา ยิ่งเมื่อเป็นประชากรเสียงส่วนน้อย ความยากลำบากย่อมมากขึ้นเป็นทวีคูณ ในสหรัฐอมริกาช่วงทศวรรษ 1960 มีประชากรชาวผิวขาวร้อยละ 85 คนผิวสีร้อยละ 11 ที่เหลือเป็นชาวลาติน คนพื้นเมืองและคนเชื้อชาติอื่นๆ คนเหล่านี้ล้วนตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน จึงมีการต่อสู้ในรูปแบบที่คล้ายกันโดยยึดเอาวิธีการของคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันเป็นแม่แบบ การจัดตั้งองค์กรเช่น NAACP ต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ใช้วิธีการทางกฎหมาย ที่สำคัญคือสามารถรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เสียสละ และอดทนมาอย่างยาวนานส่งต่อไปยังรุ่นต่อรุ่น จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ เป็นที่ยอมรับและยกย่องไปทั่วโลก

การคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาไทยสัญญาณบอกเหตุสิทธิพลเมืองที่ถดถอย

สิทธิในการเลือกตั้งของประชาชนไทย นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 1932 (ปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475) ถือว่ามีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก หากเทียบกับประเทศต่างๆในเอเซียด้วยกันแล้ว ประเทศไทยถือเป็นลำดับต้นของความเป็นประชาธิบไตยแบบตัวแทน ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งคือ สตรีไทยมีสิทธิเลือกตั้งพร้อมกับชายไทยมาตั้งแต่เริ่มต้นโดยไม่ต้องต่อสู้เหมือนกับสตรีในยุโรปและอเมริกา

บทความงานวิจัยเรื่อง “สิทธิสตรีในประเทศไทย: ความท้าทายทางประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Women’s Suffrage in Thailand: A Southeast Asian Historiographical Challenge) เขียนโดยแคเธอรีน โบวี่ (Katherine Bowie) อาจารย์ด้านมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ประเทศไทยถูกระบุว่าสตรีไทยได้รับสิทธิลงคะแนนเสียงในปี 1932 … อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปี 1932 จะเป็นครั้งแรกที่ชายและหญิงชาวไทยสามารถลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งรัฐสภาที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ แต่ก็ไม่ได้นับเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงไทยสามารถลงคะแนนเสียงได้ ฉันต้องประหลาดใจที่ค้นพบว่า ในระหว่างดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายการเลือกตั้งหมู่บ้าน บทบัญญัติอย่างเป็นทางการสำหรับการลงคะแนนเสียงของผู้หญิงในการเลือกตั้งของหมู่บ้านในประเทศไทยมีขึ้นตั้งแต่พระราชบัญญัติการปกครองส่วนท้องถิ่นปี 1897” “ประเทศไทยมีสิทธิที่จะอ้างว่าเป็นประเทศที่สองของโลกที่ประกาศให้สิทธิลงคะแนนเสียงกับสตรี”

Thai military at Chang Phueak Gate in Chiang Mai. The two ladies at the right hand side of the image are bringing the contingent of soldiers stationed at Chang Phueak Gate lunch.
Thailand coup : Takeaway, CC BY-SA 3.0 , via Wikimedia Commons

จะเห็นได้ว่าประเทศไทย ตั้งแต่ยังเป็นประเทศสยาม มีพัฒนาการในด้านความเป็นประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนมาเกือบศตวรรษแล้ว ถือเป็นประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เมื่อมีการรัฐประหารบ่อยครั้งจนอยู่ในลิสต์สถิติโลก และมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดบ่อยครั้ง เราจึงได้เห็นความถดถอยของประเทศได้เป็นลำดับต่อเนื่องกันมา

กระบวนการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาครั้งล่าสุดนี้ หากมองเผินๆเหมือนกับนำเอาวิธีการในการกีดกันสิทธิเลือกตั้งของคนผิวสีในอเมริกามาขยำรวมกัน ผลที่ออกมาจึงเป็นตัวชี้วัด (indicator) ที่ชัดเจนที่สุดที่แสดงให้เห็นถึงความถดถอยของระบบการเลือกตั้งของไทยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิทธิพลเมืองอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และเป็นสิ่งที่จะถูกบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ ให้ลูกหลานได้ศึกษาในอนาคตอย่างแน่นอน

ลิงก์เพื่อการอ้างอิง

การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
https://www.ect.go.th/ect_th/th/db_119_ect_th_6/2967

ทำความรู้จัก ส.ว.ชุดใหม่ พร้อมที่มาแบบใหม่โดยการให้ “เลือกกันเอง”
https://www.ilaw.or.th/articles/6002

Reconstruction era
https://en.wikipedia.org/wiki/Reconstruction_era

What was Jim Crow
https://jimcrowmuseum.ferris.edu/what.htm

Poll taxes in the United States
https://en.wikipedia.org/wiki/Poll_taxes_in_the_United_States

Literacy test
https://en.wikipedia.org/wiki/Literacy_test

Grandfather clause
https://en.wikipedia.org/wiki/Grandfather_clause

NAACP
https://en.wikipedia.org/wiki/NAACP

The Ku Klux Klan and Violence at the Polls
https://billofrightsinstitute.org/essays/the-ku-klux-klan-and-violence-at-the-polls

Voter suppression in the United States
https://en.wikipedia.org/wiki/Voter_suppression_in_the_United_States

The State of Louisiana Literacy Test
https://sharetngov.tnsosfiles.com/tsla/exhibits/aale/pdfs/Voter%20Test%20LA.pdf

Harvard Takes the 1964 Louisiana Literacy Test
https://www.youtube.com/watch?v=L44aX-pUTGE

Women’s Suffrage in Thailand: A Southeast Asian Historiographical Challenge
https://www.cambridge.org/core/journals/comparative-studies-in-society-and-history/article/womens-suffrage-in-thailand-a-southeast-asian-historiographical-challenge/69B0137CC9FAABC33C0325FC3EA97EB5

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *