พลังคนหนุ่มสาว พลังผู้เปลี่ยนโลก

,
Victory Bell at Kent State University in Kent, Ohio, United States.
สารบัญ

ทหารตะกั่วกำลังมา สี่คนจบชีวิตที่โอไฮโอ

“ทหารตะกั่วกับนิกสันกำลังมา
ทีสุดเราก็ถูกโดดเดี่ยว
ฤดูร้อนนี้ฉันได้ยินเสียงกลองศึก
สี่คนจบชีวิตลงที่โอไฮโอ..”

ท่อนแรกของบทเพลงชื่อ “โอไฮโอ (Ohio)” ของวงครอสบี้ สตีล แนช แอนด์ ยัง (CSN & Y) นีล ยัง (Neil Young) ขึ้นเพลงนี้ด้วยเสียงกีต้าร์เกรี้ยวกราด ดุดัน พร้อมเสียงร้องที่สะท้อนความเจ็บปวดคั่งแค้น ได้ฟังเพลงนี้ครั้งแรกจำไม่ได้เหมือนกันว่าเมื่อไร แต่คงอยู่ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ต่อต้นทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ตอนนั้นไม่รู้ความหมายและที่มาของเพลง ดูเหมือนจะไม่ค่อยชอบเพลงนี้ด้วยซ้ำไป แต่เพราะมันอยู่ในอัลบั้มรวมเพลงฮิตของนีล ยัง บนตลับเทปเดียวกันเวลาเปิดฟังมันก็ต้องฟังต่อกันไปจนจบหน้า เหมือนโดนบังคับให้ฟังแบบนั้นแหละครับ

Neil Young and Promise of the Real at the main stage of Stavernfestivalen in Norway on 07. July 2016
Neil Young,Tore Sætre, CC BY-SA 4.0 via Wikimedia Commons

ตอนที่ซื้อเทปมาก็เพราะอยากฟังเพลงอื่นๆเช่น After the Gold Rush, Heart of Gold, Comes a Time ประมาณนี้ แต่พอฟังบ่อยๆจนติดหูแล้วก็ชอบไปเอง ตอนนั้นยังคงไม่รู้ที่มาของเพลงอยู่ดีเพราะสมัยนั้น เราจะรู้เรื่องราวของเพลงสากล ก็จะมาจากที่เดียวคือ นักวิจารณ์เพลงซึ่งเขียนคอลัมน์ในนิตยสาร กับดีเจที่เปิดเพลงในแนวนี้ทางสถานีวิทยุต่างๆ ซึ่งมีไม่กี่แห่ง ที่สำคัญถ้าเพลงไหนยังไม่ฮิตหรือเป็นที่ติดหูคนฟัง เราจะไม่มีโอกาสรู้เรื่องราวพวกนี้เลย ต่างจากยุคนี้ที่เราอยากรู้เรื่องอะไร ก็เสิร์ชดูจากอินเทอร์เน็ตได้ทันที

มารู้เรื่องราวที่มาของเพลงโอไฮโอ ก็ตอนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แล้วนี่แหละครับ เลยไม่แปลกใจที่ทั้งเสียงร้องและเสียงดนตรีของเพลงนี้ถึงได้เกรี้ยวกราดแบบนั้น นีล ยัง แต่งเพลง โอไฮโอ ขึ้นหลังเหตุการณ์กราดยิงในมหาวิทยาลัยเคนท์สเตต (Kent State Shootings) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่าการสังหารหมู่เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม (May 4 Massacre) หรือการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยเคนท์สเตต (Kent State Massacre) ในเมืองเคนท์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เมื่อกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ (National Guard) ของรัฐโอไฮโอ เปิดฉากยิงเข้าใส่กลุ่มนักศึกษาที่กำลังชุมนุมประท้วงอยู่ภายในมหาวิทยาลัย เพื่อต่อต้านการที่ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ตัดสินใจขยายสงครามเข้าไปในประเทศกัมพูชาซึ่งประกาศตัวเป็นกลางในช่วงสงครามเวียดนาม โดยปราศรัยผ่านทางโทรทัศน์เมื่อวันที่ 30 เมษายน 1970 ทำให้นักศึกษาสี่คนเสียชีวิต อีกเก้าคนได้รับบาดเจ็บ หนึ่งในนั้นต้องกลายเป็นอัมพาตไปตลอดชีวิต

นักศึกษาที่ถูกยิงเสียชีวิต บางคนเป็นผู้ประท้วงต่อต้านการรุกรานกัมพูชาของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม นักศึกษาคนอื่นๆ ที่ถูกยิงเพียงแค่เดินผ่านเพราะต้องเปลี่ยนคาบเรียน หรือแค่สังเกตการประท้วงจากระยะไกลเท่านั้นเอง ทันทีหลังเกิดเหตุ มีการตอบโต้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสำคัญในระดับชาติ พลังคนหนุ่มสาว นักศึกษา นักเรียนทั้งจากมหาวิทยาลัย วิทยาลัย และโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายหลายร้อยแห่งหยุดเรียนทั่วสหรัฐอเมริกาเพื่อทำการเดินขบวนประท้วง ประมาณกันว่ามีนักเรียน นักศึกษามากกว่าสี่ล้านคนที่ออกมาประท้วงในครั้งนั้น เหตุการณ์นี้ทำให้ความคิดทางการเมืองของคนในสหรัฐอเมริกา แตกแยกกันมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองเป็นต้นมา

การต่อต้านสงครามเวียดนามของ พลังคนหนุ่มสาว

หลังสงครามโลกครั้งที่สองลัทธิคอมมิวนิสต์เริ่มคุกคามรัฐบาลของประเทศเสรีทั่วโลก เมื่อสงครามในเวียดนามเริ่มต้นขึ้น ชาวอเมริกันจำนวนมากเชื่อว่าการปกป้องเวียดนามใต้จากการรุกรานของคอมมิวนิสต์นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น หากสหรัฐอเมริกาไม่เข้าแทรกแซง ฝ่ายคอมมิวนิสต์อาจสนับสนุนให้มีการปฏิวัติในที่อื่นๆไปทั่วโลก แต่เมื่อสงครามยืดเยื้อ ชาวอเมริกันจำนวนมากเริ่มตระหนักถึงการบาดเจ็บล้มตายของทหาร และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงเกิดขบวนการต่อต้านสงครามกลุ่มเล็กๆขึ้น โดยให้เหตุผลทางศีลธรรมเช่นความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับผู้บริสุทธิ์ การใช้สารเคมีที่ทำให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อม และความสูญเสียทางเศรษฐกิจซึ่งสหรัฐไม่มีส่วนได้อะไรในสงครามนี้เลย

Florida State University students marching for anti-war protest : Tallahassee, Florida 1970
Florida State University students marching for anti-war protest, State Archives of Florida, Florida Memory, via Wikimedia Commons

นักศึกษาและ พลังคนหนุ่มสาว ต่อต้านการเกณฑ์ทหาร

ความไม่พอใจในหมู่เยาวชนและนักศึกษาที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการเกณฑ์ทหาร โดยเฉลี่ยทหารอเมริกันที่ถูกส่งไปเวียดนามมีอายุ 19 ปี ซึ่งถือว่าน้อยมาก แม้จะมีการผ่อนผันให้กับผู้ที่กำลังศึกษาอยู่บ้าง แต่คนที่ได้รับประโยชน์ก็มักเป็นผู้มั่งคั่งในครอบครัวที่มีชื่อเสียง เมื่อถูกเกณฑ์เข้าสู่กองทัพแล้วคนที่มีการศึกษาสูงกว่าก็จะได้รับตำแหน่งที่ดีกว่า พลทหารส่วนใหญ่มาจากครอบครัวคนชั้นล่าง คนผิวสี หรือคนลาตินซึ่งมักจะถูกส่งไปในแนวหน้าที่มีอันตรายมากกว่าคนอเมริกันผิวขาว ในช่วงของสงครามเวียดนาม มีชายชาวอเมริกันมากกว่าสองแสนคนคนที่หลบหนีการเกณฑ์ทหาร ซึ่งมีทั้งไม่ไปแสดงตัวรับหมายเกณฑ์ หรือหนีไปประเทศอื่นเช่นแคนาดาเป็นต้น กลุ่มที่ต่อต้านสงครามเวียดนามและการเกณฑ์ทหารแสดงออกด้วยการปฏิเสธดื้อๆ หรือการฉีกหมายเกณฑ์ทิ้ง ในจำนวนนี้รวมถึงนักมวยแชมป์โลก มูฮัมหมัด อาลี (Muhammad Ali) ซึ่งคนเหล่านี้มีความผิดตามกฎหมายต้องรับโทษทั้งปรับเป็นเงินและถูกจำคุก

แม้ว่าการชุมนุมประท้วงต่อต้านสงครามในตอนแรกจะมีผู้เข้าร่วมไม่มากนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปสงครามทวีความรุนแรงขึ้นชาวอเมริกันหลายล้านคนเฝ้าดูความสูญเสียของทหารของตน ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ทุกวัน ศพของทหารอเมริกันคนแล้วคนเล่าทยอยถูกส่งกลับบ้านเกิด ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีจอห์นสันก็ยิ่งเพิ่มความมุ่งมั่นในสงครามมากยิ่งขึ้น สงครามเริ่มยืดเยื้อไม่มีท่าทีจะยุติลงเสียที ขบวนการสันติภาพจึงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ปลายทศวรรษ 1960 เริ่มเกิดความรุนแรงขึ้น เมื่อตำรวจใช้กำลังเข้าจับกุมกลุ่มผู้ประท้วงที่ชุมนุมอย่างสันติ การเข้าปราบปรามทุกครั้งจะถูกตอบโต้และความรุนแรงก็เริ่มลุกลามมากขึ้น ความเคลื่อนไหวนี้ขยายตัวจากกลุ่มนักศึกษาคนหนุ่มสาว ไปสู่นักเรียนมัธยมปลาย มัธยมต้น จนถึงนักเรียนในระดับประถมศึกษา โดยการนำของกลุ่มนักศึกษาฝ่ายซ้ายที่เรียกตัวเองว่า “นักศึกษาเพื่อสังคมประชาธิปไตย (Students for a Democratic Society : SDS)” ซึ่งมีการจัดตั้งและทำการเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบ

การที่มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางการศึกษาของอเมริกา สิ่งที่มหาวิทยาลัยสอนสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางในการจัดระเบียบ ประเมิน และถ่ายทอดความรู้สู่สังคมภายนอก แหล่งข้อมูลของมหาวิทยาลัยสามารถนำมาใช้เพื่อให้ความรู้แก่มวลชนและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจิตสำนึกทางสังคม ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นส่วนสำคัญของการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ซึ่งแน่นอนว่าจะถูกจับตามองจากรัฐบาลอย่างใกล้ชิด

April 30. 1970, Washington, DC, USA - President Richard Nixon during a television address explaining his Cambodia policy.
President Richard Nixon : Tommy Japan1 via Flickr.com

การเลือตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในปี 1968

การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 1968 ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) จากพรรครีพับริกันได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 37 ของสหรัฐอเมริกา ในการหาเสียงเขาได้ให้คำมั่นที่จะฟื้นฟูกฎหมายและความสงบเรียบร้อย การเน้นที่คำว่า “กฎหมายและระเบียบ” ก็เพื่อส่งสัญญาณถึงความตั้งใจที่จะปราบปรามนักศึกษาผู้ที่ออกมาประท้วง นักเคลื่อนไหว และผู้ที่ท้าทายสภาพที่เป็นอยู่แบบดั้งเดิมของสังคมอเมริกัน สิ่งนี้สามารถเรียกความนิยมจากชาวอเมริกันชนชั้นกลางผิวขาวที่กังวลและหวาดกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่รุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้ นโยบายอีกประการหนึ่งคือการยุติสงครามในเวียดนามซึ่งฝ่ายต่อต้านสงครามจับตามองอยู่ นิกสันเองก็ได้รับเสียงสนับสนุนจากคนกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน ทำให้ท้ายที่สุดเขาจึงเป็นผู้มีชัยในการเลือกตั้ง และเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม 1969

นิกสันขยายสงครามสู่กัมพูชา

ในช่วงต้นของการเข้ารับตำแหน่งของนิกสัน การปฏิบัติตามคำสัญญาในเรื่องการยุติสงครามเวียดนามยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมใดๆ ในทางกลับกัน สงครามดูเหมือนจะขยายตัวออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านของเวียดนามซึ่งประกาศตัวเป็นกลาง ทั้งในลาว และกัมพูชา วันที่ 30 เมษายน 1970 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ออกแถลงการณ์ผ่านเครือข่ายโทรทัศน์ ประกาศว่าเขาได้สั่งให้กองกำลังของสหรัฐเข้าปฏิบัติการในดินแดนของกัมพูชาเมื่อวันที่ 28 เมษายน ก่อนหน้านี้สองวัน โดยให้เหตุผลว่ามีฐานปฏิบัติการใหญ่ของฝ่ายคอมมิวนิสต์อยู่ในพื้นที่นั้น ทำให้ชาวอเมริกันที่ต่อต้านสงครามไม่พอใจ เพราะแทนที่จะพยายามยุติสงคราม แต่ตรงกันข้ามกลับขยายสงครามออกไปยังพื้นที่อื่นๆอีก และได้กล่าวหาว่านิกสันใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมาย ละเมิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมาความไม่พอใจนี้ได้ขยายตัวเป็นการชุมนุมประท้วงในที่ต่างๆขึ้นในเกือบจะทันที

18 x 25.5 inch screen print poster, which says "Dare to Struggle, Dare to Win! Strike May 4th". On May 4, 1970
“Dare to Struggle, Dare to Win! Strike May 4th” Unknown author, Public domain, via Wikimedia Commons

การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยเค้นท์สเตต รัฐโอไฮโอ

วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม 1970 นักศึกษามหาวิทยาลัยเค้นท์สเตต (Kent State University) รัฐโอไฮโอ ประมาณ 500 คนเริ่มต้นการชุมนุมประท้วงต่อการตัดสินใจของนิกสัน มีการนำเอาสำเนารัฐธรรมนูญมาฝังเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการฆาตกรรม พร้อมทั้งนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคมซึ่งเป็นวันเปิดเรียนวันแรกของสัปดาห์ ในช่วงเย็นของวันนั้น ผู้ชุมนุมมีการดื่มและพูดคุยถึงเรื่องนี้ด้วยความขุ่นเคือง จากนั้นได้เคลื่อนตัวไปยังใจกลางเมือง มีรายงานถึงความวุ่นวาย โดยการขว้างปาขวด ทุบทำลายกระจกหน้าต่างบ้านเรือน ร้านค้า จนตำรวจปราบจลาจลต้องเข้าสลายฝูงชนที่สี่แยกถนนสายหลัก ไล่ให้นักศึกษากลับเข้าไปในมหาวิทยาลัย เลอรอย ซาตรอม (Leroy Satrom) นายกเทศมนตรีของเมืองได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน มีการประกาศปิดบาร์ทุกแห่งในเมือง ส่งผลให้ประชาชนไม่พอใจจนเกิดเป็นการจลาจลย่อยๆ จนถึงเวลา 02:30 เหตุการณ์จึงได้สงบลง

ทหารตะกั่วของนิกสันกำลังมา

วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม นักศึกษาออกไปช่วยกันทำความสะอาดตัวเมือง มีข่าวลือไปทั่วว่าผู้ประท้วงหัวรุนแรงได้ข่มขู่ผู้ประกอบการในเมือง แสดงให้เห็นถึงความหวาดกลัวต่อผู้ชุมนุมของชาวเมืองบางคน เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยได้รับคำสั่งห้าม มิให้มีการทำให้ทรัพย์สินหรือตัวอาคารได้รับความเสียหาย ประกาศห้ามนี้ปรากฏในใบปลิวที่ถูกเผยแพร่โดยสำนักงานกิจการนักศึกษา จากความกังวลว่าเหตุความรุนแรงจะลุกลามบานปลาย เลอรอยได้ร้องขอให้ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอ เจมส์ โรสด์ (James Rhodes) เพื่อขอให้ส่งกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิไปช่วย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับในทันที โดยกองทหารเข้ามายังมหาวิทยาลัยในช่วงเย็นของวันนั้น

หลังเวลาสองทุ่มได้ไม่นานนัก มีผู้คนนับพันคนรายล้อมอาคารซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยฝึกอบรมกำลังสำรองในมหาวิทยาลัย (Army Reserve Officer Training Corps : ROTC) ขณะนั้นเองมีผู้ชุมนุมสองสามคนเข้าไปจุดไฟเผาอาคาร เจ้าหน้าที่ดับเพลิงไม่สามารถดับไฟได้ทัน เมื่อถึงเที่ยงคืน กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิได้เข้าเคลียร์พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัย บังคับให้นักศึกษาและผู้ที่ไม่ใช่นักศึกษากลับไปยังที่พัก ซึ่งมีหลายคนที่ต้องพักค้างคืนที่นั่น

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม เมืองและมหาวิทยาลัยที่เคยเงียบสงบแห่งหนึ่ง ถูกยึดครองโดยกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิมากกว่า 1,000 นาย สถานการณ์อยู่ในความตึงเครียด ในตอนเช้า ผู้ว่าการโรดส์เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปถึงเมืองเคนท์ มีการจัดงานแถลงข่าวต่อผู้สนับสนุนในตัวเขา ซึ่งเขาก็ได้ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก โดยได้เรียกผู้ประท้วงว่า “เป็นคนประเภทที่แย่ที่สุดในอเมริกาที่พวกเราต้องอาศัยอยู่ด้วย” และ “เรากำลังต่อต้านกลุ่มปฏิวัติที่แข็งแกร่งที่สุด ฝึกฝนมาอย่างดี และเข้มแข็งที่สุดเท่าที่เคยมีมาในอเมริกา” เขาได้สั่งห้ามการชุมนุมประท้วงตามที่วางแผนไว้ในวันถัดไป การเผชิญหน้ากันระหว่างนักศึกษาและกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิเกิดขึ้นในคืนนั้น หลังจากที่ผู้ประท้วงรวมตัวกันที่ลานสาธารณะใกล้กับระฆังแห่งชัยชนะ (The Victory Bell) ซึ่งปกติแล้วจะใช้เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะในการแข่งขันกีฬาของมหาวิทยาลัย การชุมนุมประท้วงทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ ท้องถิ่น และมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมก็เริ่มทวีจำนวนมากขึ้น ปัญหาความขัดแย้งก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ใกล้ค่ำ มีความพยายามในการสลายฝูงชนที่รวมตัวกันบริเวณระฆังแห่งชัยชนะแต่ไม่สำเร็จ จนถึงเวลา 21:00 น. มีการอ่านพระราชบัญญัติการจลาจลของรัฐโอไฮโอให้ผู้ชุมนุมฟัง และทหารเริ่มมีการยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุม

ผู้ประท้วงรวมตัวกันอีกครั้งที่สี่แยกของถนนสายหลักทางทิศตะวันออกและถนนลินคอล์น ทำให้การจราจรติดขัด พวกเขาเชื่อว่าสามารถที่จะเจรจากับเจ้าหน้าที่ได้ แต่ก็ไม่มีใครออกมารับฟัง ตอนนี้ดูเหมือนฝูงชนกลายเป็นศัตรูไปแล้ว ในเวลา 23:00 น. มีการอ่านพระราชบัญญัติการจลาจลอีกครั้ง และเริ่มมีการใช้แก๊สน้ำตาอีก เหตุการณ์เป็นไปด้วยความสับสนมีผู้บาดเจ็บทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่หลายราย

การเผชิญหน้ากันในคืนวันอาทิตย์ ทำให้เกิดการต่อต้านและไม่พอใจจากทุกฝ่าย ในวันจันทร์ซึ่งเป็นวันเปิดเรียน ผู้ประท้วงยังคงมุ่งมั่นที่จะจัดการชุมนุมในตอนเที่ยงตามที่ได้นัดหมายกันไว้ แม้ว่าจะไม่ได้รับอนุญาตก็ตาม ขณะเดียวกันทหารก็ได้รับคำสั่งให้ใช้กำลังสลายการชุมนุมใดๆที่จะเกิดขึ้นในวันถัดไป

Photo by John Paul Filo, Mary Ann Vecchio gestures and screams as she kneels by the body of a student, Jeffrey Miller
Pulitzer prize-winning photo by John Paul Filo

สี่คนต้องจบชีวิตลงที่ โอไฮโอ

วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม เมื่อถึงเวลาเที่ยงวัน ผู้ชุมนุมราวสองพันคนได้มารวมตัวกันที่บริเวณลานสาธารณะของมหาวิทยาลัยตามหมายกำหนดการเดิมที่เคยประกาศไว้ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ทราบถึงคำสั่งห้ามการชุมนุม แต่ผู้ที่เข้ามาสมทบจากภายนอกส่วนใหญ่ไม่ทราบเรื่องนี้ เวลา 12:00 น. ผู้ชุมนุมได้ลั่นระฆังแห่งชัยชนะเพื่อเริ่มต้นการชุมนุม และให้ผู้ปราศรัยคนแรกขึ้นพูด

ทหารได้มีการประกาศอย่างแข็งกร้าวให้ผู้ชุมนุมสลายตัว จากนั้นไม่นานแก๊สน้ำตาก็ถูกยิงเข้าไปในฝูงชน แต่ก็ไม่เกิดผลอะไรมากนัก กองทหารจึงเคลื่อนเข้าหาผู้ชุมนุมพร้อมไรเฟิลติดดาบปลายปืน ทำให้ผู้ชุมนุมต้องถอยไปจนถึงเนินใกล้กับเทย์เลอร์ฮอลล์ แต่ทหารก็ยังผลักดันผู้ชุมนุมให้ถอยต่อไปอีกจนถึงบริเวณสนามซ้อมกีฬา และได้ยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่อีกครั้ง ซึ่งก็ถูกตอบโต้ด้วยก้อนหินและคำด่าทอ

ถึงตอนนี้แถวทหารได้ถอยกลับไปทางที่เดิม มีผู้ชุมนุมบางคนเดินตามไป แต่ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ห่างจากแถวของทหาร 60 ถึง 75 หลา โดยที่ไม่มีใครคาดคิด เมื่อกองทหารเคลื่อนไปถึงยอดเนินเวลาขณะนั้นคือ 12:24 น. ทันใดนั้นเอง ทหาร 28 นายหันกลับมายังผู้ชุมนุมแล้วเริ่มเปิดฉากยิงเข้าใส่ ทหารบางนายยิงปืนขึ้นฟ้า แต่บางส่วนก็เล็งมาที่กลุ่มผู้ชุมนุม ประมาณกันว่ามีกระสุน 61 ถึง 67 นัดถูกยิงออกมาช่วงเวลา 13 วินาทีนั้น เมื่อสิ้นเสียงปืน นักศึกษา 4 คนล้มลงและเสียชีวิต อีก 9 คนได้รับบาดเจ็บ เหยื่อคมกระสุนคนที่อยู่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างแถวทหาร 20 หลา ส่วนคนที่อยู่ไกลที่สุดอยู่ห่างออกไปถึง 250 หลา ทั้ง 13 คนเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเคนท์สเตต ผู้ที่เสียชีวิตได้แก่ เจฟฟรีย์ มิลเลอร์, อัลลิสัน เคราส์, วิลเลียม ชโรเดอร์ และแซนดรา ชูเออร์ นักศึกษาที่ได้รับบาดเจ็บเก้าคน ได้แก่ โจเซฟ ลูอิส, จอห์น เคลียร์รี, โธมัส เกรซ, อลัน แคนฟอรา, ดีน คาห์เลอร์, ดักลาส เรนท์มอร์, เจมส์ รัสเซลล์, โรเบิร์ต สแตมป์ และโดนัลด์ แม็คเคนซี สำหรับดีน คาห์เลอร์ ต้องกลายเป็นอัมพาตถาวรจากอาการบาดเจ็บในครั้งนั้น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความตกตะลึงให้กับทุกฝ่าย เนื่องจากไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า กองทหารที่มีอาวุธสงครามร้ายแรงครบมือ จะเปิดฉากยิงเข้าใส่ฝูงชนที่ปราศจากอาวุธ ความตื่นตระหนกโกลาหลเกิดขึ้นไปทั่วบริเวณ เหยื่อกระสุนได้รับการช่วยเหลือและปฐมพยาบาลอย่างฉุกละหุก เสียงกรีดร้อง ความวุ่นวาย และความโกรธแค้น ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงสองถึงสามร้อยคนรวมตัวกันบนทางลาดใกล้ๆลานสาธารณะเพื่อตอบโต้กองทหาร แต่ก็ถูกสั่งให้เคลื่อนย้ายออกไปไม่เช่นนั้นจะถูกยิงอีก ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายรุนแรงไปกว่านั้น คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยหลายท่านนำโดยอาจารย์ เกล็น แฟรงค์ (Glenn W. Frank) ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยา รีบเข้าไปพูดโน้มน้าวให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่กำลังโกรธแค้น แยกย้ายสลายตัวกันออกไป ก่อนที่จะเกิดการสูญเสียอีกครั้ง

“ผมไม่สนใจว่าในชีวิตนี้ พวกคุณจะไม่เคยเชื่อฟังใครมาก่อนหรือไม่ แต่ผมขอร้องคุณเดี๋ยวนี้ ถ้าพวกคุณไม่แยกย้ายกันไปตอนนี้ พวกเขาก็จะเข้ามาอีก แล้วมันก็จะไม่พ้นต้องเข่นฆ่ากันอีก ได้โปรดฟังผมหน่อยได้ไหม พระเจ้า ผมไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งนี้”

คำพูดขอร้องของอาจารย์แฟรงค์ด้วยความห่วงใยนี้ ทำให้นักศึกษาสลายตัวแยกย้ายกันออกไปได้สำเร็จ ซึ่งต่อมาเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ยุติการเผชิญหน้าที่รุนแรงหลังเหตุกราดยิง และสามารถปกป้องชีวิตของนักศึกษาอีกจำนวนมากหากมีการปะทะกันอีก

ขณะที่รถพยาบาลของมหาวิทยาลัยวิ่งไปทั่วบริเวณ มีการประกาศคำสั่งของอธิการบดีไวท์ (Robert I. White) ผ่านเสียงตามสาย ให้มหาวิทยาลัยปิดทำการ และนักศึกษาควรเก็บของและออกจากมหาวิทยาลัยโดยเร็วที่สุด บ่ายวันนั้น อัยการเขตได้รับคำสั่งให้ปิดมหาวิทยาลัยอย่างไม่มีกำหนด กิจกรรมตามปกติของมหาวิทยาลัยจะไม่มีการดำเนินการต่อไป จนกว่าจะถึงภาคฤดูร้อนที่จะถึงทำให้มหาวิทยาลัยปิดการเรียนการสอนไปเป็นเวลาถึง 6 สัปดาห์

ผลกระทบหลังเหตุการณ์กราดยิง

ภาพถ่ายของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บที่มหาวิทยาลัยเคนท์สเตต ซึ่งถูกเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และวารสารต่างๆ ทั่วโลกได้ตอกย้ำความรู้สึกของสังคมที่มีต่อสงครามเวียดนาม และการที่สหรัฐฯได้ขยายสงครามเข้าไปในกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของ แมรี แอนน์ เวคีโอ (Mary Ann Vecchio) เด็กสาววัย 14 ปี ที่กำลังคุกเข่ากรีดร้องอยู่ข้างศพของ เจฟฟรีย์ มิลเลอร์ (Jeffrey Miller) ซึ่งถูกยิงเข้าที่ปาก และเสียชีวิตอยู่บนพื้นถนน ซึ่งจอห์น ฟิโล (John Filo) นักศึกษาวารสารศาสตร์การถ่ายภาพของมหาวิทยาลัยเคนท์สเตตถ่ายไว้ได้ ต่อมาภาพถ่ายนี้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ และได้กลายเป็นภาพเหตุการณ์ที่นำมาใช้มากที่สุดภาพหนึ่งของขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนาม

เหตุกราดยิงนำไปสู่การประท้วงในวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา มีการการนัดหยุดเรียนของนักศึกษา ทำให้วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมากกว่า 450 แห่งทั่วประเทศต้องปิดตัวลง มีการเดินขบวนประท้วงซึ่งมีทั้งที่รุนแรง และชุมนุมกันอย่างสงบ ลุกลามไปทั้งประเทศ นักศึกษามหาวิทยาลัยนิวยอร์กแสดงความรู้สึกร่วมกันโดยเขียนป้ายข้อความว่า “พวกเขาไม่สามารถฆ่าเราทั้งหมดได้” ห้อยอยู่นอกหน้าต่างอาคาร วันที่ 8 พฤษภาคม นักศึกษามหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก 11 คนได้รับบาดเจ็บ จากการถูกกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิของรัฐนิวเม็กซิโก แทงด้วยดาบปลายปืนในการเผชิญหน้ากับนักศึกษาที่มาชุมนุมประท้วง

สิบวันหลังจากเหตุกราดยิงที่รัฐเคนท์ ในวันที่ 14 พฤษภาคม ที่มหาวิทยาลัยแจ็คสัน รัฐมิสซิสซิปปี้ นักศึกษาสองคนเสียชีวิต และอีก 12 คนได้รับบาดเจ็บ หลังถูกตำรวจระดมยิงเข้าไปในหอพักนักศึกษา แต่เหตุการณ์นั้นไม่ได้กระตุ้นความสนใจของคนทั่วประเทศเช่นเดียวกับการยิงในเมืองเคนท์ ซึ่งมีผู้ให้ความเห็นในภายหลังว่า อาจเป็นเพราะนักศึกษาเหล่านี้เป็นคนแอฟริกัน-อเมริกัน ซึ่งในขณะนั้นการเหยียดผิวยังคงเข้มข้นในสังคมอเมริกันอยู่

Hard hats on cabinet table after Nixon meeting with construction trades group (05/26/1970) less than three weeks after the New York City Hard Hat Riot
General Services Administration. National Archives and Records Service. Office of Presidential Libraries. Office of Presidential Papers. (01/20/1969 – ca. 12/1974), Public domain, via Wikimedia Commons

การตอบโต้ของนิกสันและผู้สนับสนุน

เพียงห้าวันหลังจากเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยเคนท์สเตต มีผู้คนราว 100,000 คนรวมตัวประท้วงในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อต่อต้านสงครามและการสังหารนักศึกษาที่ปราศจากอาวุธ นิกสันและผู้สนับสนุนในรัฐบาลมองว่าการประท้วงไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล บรรดาผู้ใกล้ชิดนิกสันซึ่งมีตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง ได้ออกมาตำหนิการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชนว่า การต่อต้านสงครามเป็นเรื่องไร้เหตุผล ผู้ประท้วงเป็นพวกที่ชอบก่อความวุ่นวาย ไม่รักชาติ จนถึงกล่าวหาว่าเป็นขบวนการที่นิยมคอมมิวนิสต์

ผู้สนับสนุนนิกสันถึงขั้นจัดตั้งมวลชนขึ้นมา เพื่อใช้ปะทะกับกลุ่มผู้ประท้วง ในการชุมนุมต่อต้านสงคราม และการสังหารที่มหาวิทยาลัยเคนท์สเตต บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ (Federal Hall) ในนิวยอร์กเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ฝูงชนได้พบกับการต่อต้านการชุมนุม จากกลุ่มคนงานก่อสร้างผู้สนับสนุนนิกสัน ที่ได้รับการจัดตั้งโดย ปีเตอร์ เบรนแนน (Peter J. Brennan) ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ (United States Secretary of Labor) โดยประธานาธิบดีนิกสัน ทำให้เกิดการปะทะกันจนกลายเป็นการจลาจลซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า “การจลาจลของพวกหมวกแข็ง (Hard Hat Riot)” กลุ่มคนงานที่รวมตัวกับพนักงานจากสำนักงานในบริเวณนั้นบางส่วนที่เข้าร่วมสมทบ เปิดฉากเข้าทำร้ายนักเรียนนักศึกษาที่กำลังชุมนุมกันอยู่รวมไปถึงอาจารย์ที่อยู่ในสถานศึกษาบริเวณใกล้เคียง โดยตำรวจที่มารักษาความสงบไม่พยายามทำหน้าที่อย่างจริงจัง การปะทะกันส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 100 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ชุมนุมกันอย่างสงบ นักศึกษาชายหลายคนถูกทุบตีจนสลบ หนึ่งในสี่ของผู้บาดเจ็บเป็นนักศึกษาหญิง หลังเหตุการณ์ตำรวจจับกุมนักศึกษา 6 คนไปดำเนินคดี แต่จับกุมพวกคนงานไปเพียงคนเดียวเท่านั้น

ความรับผิดชอบต่อการสังหารที่มหาวิทยาลัยเคนท์สเตต

ในเดือนมิถุนายน 1970 นิกสันได้ตั้งคณะกรรมการของประธานาธิบดี (รู้จักกันดีในนามคณะกรรมาธิการสแครนตัน) เพื่อสอบสวนเหตุกราดยิงที่รัฐเคนท์และรัฐแจ็กสัน ตลอดจนความรุนแรงในวิทยาเขตต่างๆทั่วประเทศ รายงานของคณะกรรมาธิการซึ่งตีพิมพ์ในเดือนกันยายนสรุปว่าเป็น “การยิงตามอำเภอใจ” ของทหารในกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ และเป็นการกระทำที่ “ไม่จำเป็น ไม่สมควร และยกโทษให้ไม่ได้” แต่การกระทำที่ “รุนแรงและละเมิดต่อกฎหมายอาญา” ของผู้ประท้วงมีส่วนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นกัน รายงานยังยืนกรานที่จะห้ามไม่ให้ใช้อาวุธปืนที่บรรจุกระสุนจริงในการเผชิญหน้ากับผู้ประท้วงในอนาคตอีกด้วย

เดือนตุลาคม 1970 นักศึกษายี่สิบสี่คนและอาจารย์หนึ่งคน (the “Kent 25”) ถูกตั้งข้อหาอาญาในการกระทำที่เกี่ยวข้องกับเหตุวุ่นวายในมหาวิทยาลัยเคนท์สเตต ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเผาอาคาร ROTC แต่คณะลูกขุนใหญ่ที่ตั้งข้อกล่าวหากับนักศึกษาเหล่านั้น กลับไม่ได้ตั้งข้อหาใดๆกับทหารกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ โดยสรุปว่าพวกเขา “ใช้อาวุธด้วยความบริสุทธิ์ใจเพราะเชื่อว่า จะได้รับอันตรายร้ายแรงหากไม่ทำเช่นนั้น” ในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 1971 จำเลยสองคนสารภาพความผิดในข้อหาก่อจลาจล อีกคนถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานเข้าไปขัดขวางการปฏิบัติงานของนักผจญเพลิง ที่เหลือถูกยกฟ้องเนื่องจากขาดพยานหลักฐานที่ชัดเจน

ต่อมากระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้เปิดการพิจารณาคดีขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งในเดือนสิงหาคม 1973 เพื่อสอบสวนบทบาทของเจ้าหน้าที่ทหารในการตัดสินใจยิงผู้ชุมนุม อดีตทหารแปดนายถูกตั้งข้อหาละเมิดสิทธิพลเมืองต่อกลุ่มนักศึกษา ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนปี 1974 ผู้พิพากษาศาลแขวงสหรัฐ Frank J. Battisti ตัดสินให้ทั้งแปดคนพ้นผิด เพราะไม่สามารถการพิสูจน์ได้ว่าทหารของกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ ตั้งใจที่จะทำให้นักศึกษาสี่คนถูกสังหารและอีกเก้าคนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งคำตัดสินนี้ขัดแย้งและแตกต่างจากการสืบสวนของฝ่ายเอกชนที่ได้ดำเนินการคู่ขนานแทบจะโดยสิ้นเชิง หลังจากที่ศาลฎีกาสหรัฐพลิกคำตัดสินก่อนหน้านี้ทำให้เหยื่อและครอบครัวของพวกเขา ไม่สามารถฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐโอไฮโอ และเจ้าหน้าที่ของกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิได้อีก อย่างไรก็ตามในเดือนมกราคม 1979 ได้มีการตกลงกันนอกศาล โดยรัฐโอไฮโอได้มอบเงินรวม 675,000 เหรียญ เป็นค่าสินไหมทดแทนให้กับเหยื่อทุกรายในเหตุการณ์กราดยิงที่มหาวิทยาลัยเคนท์เมื่อ 4 พฤษภาคม 1970 ซึ่งเงินทั้งหมดมาจากภาษีของประชาชนในรัฐโอไฮโอ มิได้มาจากผู้ลงมือกระทำแต่อย่างใด

การจัดงานเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 4 พฤษภาคม 1970

ทุกปีในวันที่ 4 พฤษภาคม มหาวิทยาลัยเคนท์สเตต จัดให้มีกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์กราดยิงเมื่อปี 1970 โดยตั้งแต่ปี 1971 ถึงปี 1975 ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยเคนท์สเตต ได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นกลุ่มที่ประกอบด้วยนักศึกษาและสมาชิกในชุมชน ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดงานโดยตรง ได้ดำเนินการจัดงานรำลึกแทนตั้งแต่ปี 1976 จนถึงปัจจุบัน กิจกรรมโดยทั่วไปประกอบไปด้วยการเดินขบวนโดยสงบรอบมหาวิทยาลัย การจุดเทียนรำลึก พิธีลั่นระฆังแห่งชัยชนะ การบรรยายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงสมาชิกในครอบครัวของผู้สูญเสีย และกิจกรรมการแสดงดนตรี

Exhibit in the Royal Ontario Museum, Toronto, Ontario, Canada.
Tin Soldier, Daderot, CC0, via Wikimedia Commons

ทหารตะกั่ว (Tin Soldier) หมายถึงอะไร

มีหลายคนสงสัยคำว่า “Tin soldier” ซึ่งได้ให้ความหมายว่า “ทหารตะกั่ว” ที่ปรากฏในบรรทัดแรกของเพลงโอไฮโอ ซึ่ง นีล ยัง แต่งและร้องหมายถึงอะไร เพราะหากเราจะแปลกันอย่างตรงตัวคำว่า “tin” จะหมายถึง “ดีบุก” ส่วนคำว่า “soldier” ก็คือ “ทหาร” นั่นเอง แต่ทำไมผู้เขียนจึงใช้คำว่า “ทหารตะกั่ว” แทนที่จะเป็น “ทหารดีบุก” ?

“Tin soldier” หากเป็นคำนามจะหมายถึงของเล่นหุ่นจำลองทหาร ลักษณะเป็นตุ๊กตาตัวเล็กๆสวมเครื่องแบบทหาร ถืออาวุธในท่าทางต่างๆ ได้รับความนิยมจากนักสะสมมากพอสมควร โดยทั่วไปทำจากดีบุกผสมตะกั่ว ส่วนใหญ่มักจะเป็นตะกั่วเพราะราคาถูกและขึ้นรูปได้ง่าย หรือบางครั้งก็เป็นโลหะอื่นๆ หรือพลาสติกก็ได้ ในสมัยที่ผู้เขียนเป็นเด็กเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว ตุ๊กตาทหารแบบนี้ทำจากพลาสติกแถมมากับถุงขนม เด็กๆจะเอามาผูกเชือกที่ต่อกับแผ่นพลาสติกทำเป็นร่มชูชีพแล้วนำมาขว้างเล่นกัน

Tin soldier ในอีกความหมายหนึ่งหมายถึง ผู้ที่ชอบเล่นเป็นทหาร (one who plays at soldiering)

ส่วนความหมายของ “ทหารตะกั่ว” จากเนื้อร้องในตอนต้นของเพลง “โอไฮโอ” ที่ นีล ยัง แต่งนั้น อ้างถึงทหารจากกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิที่ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างสุ่มสี่สุ่มห้า โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามกฎหมายหรือหลักการใดๆ รวมถึงมิได้คำนึงถึงความเสียหายที่จะตามมาในภายหลัง เป็นการกระทำเพียงเพื่อตอบสนองต่อคำสั่งของหัวหน้า หรือผู้มีอำนาจให้ได้รับความพึงพอใจเท่านั้น บุคคลเหล่านี้จึงเป็นเพียงคนที่ไม่มีสำนึก ไม่มีหัวใจ เป็นเพียงคนโง่ที่หากจะใช้คำว่า “ทหารดีบุก” ก็ยังมีค่ามากเกินไป

ในความเห็นส่วนตัว “ทหารตะกั่ว” ไม่น่าจะจำกัดอยู่แค่ทหาร หรือบุคลากรในกองทัพเท่านั้น เจ้าหน้าที่รัฐในส่วนอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ต่อประชาชนไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ฝ่ายปกครอง อัยการ ศาล หรือเจ้าหน้าที่อื่นๆที่กฎหมายให้อำนาจไว้ หากได้ปฏิบัติตามคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย เพียงเพื่อให้หัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาพึงพอใจ ส่งผลให้เกิดความสูญเสีย หรือเสียหายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ในลักษณะเดียวกัน ก็ควรจะเรียกว่า “ทหารตะกั่ว” หรือ “Tin soldier” ได้เช่นเดียวกัน

ในทางกลับกัน บุคคลหรือประชาชนที่ยินดีปฏิบัติตามคำสั่ง กฎ ระเบียบ หรือกฎหมายซึ่งมีที่มาอย่างไม่ถูกต้องตามเกณฑ์ หรือมาตรฐานสากล โดยไม่สงสัย ตั้งคำถาม หรือต่อต้านขัดขืนใดๆ แม้จะรู้ว่าคำสั่งหรือกฎระเบียบเหล่านั้นไม่ถูกต้องก็ตาม เราเรียกบุคคลเหล่านี้ว่าพวก “เชื่องกฎ” หรือ “ประชากรเชื่องกฎ” (Blind Obedience)

สหรัฐอเมริกาถอนทหารจากเวียดนามในปี 1973

หลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1969 ริชาร์ด นิกสัน มีความพยายามในการยุติสงครามเวียดนาม ตามคำสัญญาที่ได้ให้ไว้ตอนหาเสียงโดยได้กล่าวไว้ว่า “ผมขอสัญญากับท่านทั้งหลายว่าเราจะต้องยุติสงครามในเวียดนามอย่างมีเกียรติ (I pledge to you that we shall have an honorable end to the war in Vietnam)” ตั้งแต่ปี 1969 ถึงปี 1972 สหรัฐค่อยๆลดกำลังทหารลง โดยส่งมอบภารกิจให้ทหารเวียดนามใต้เข้ามารับหน้าที่แทน ในเดือนกุมภาพันธ์ 1972 ผู้แทนสหรัฐโดย ดร.เฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของนิกสัน กับ เลดึ๊กโถ่ (Le Duc Tho) สมาชิกอาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือ ได้มีการเจรจาสันติภาพกันอย่างลับๆในกรุงปารีส ตั้งแต่ปี 1969 ถึงปี 1970 มีการปฏิบัติการทางทหารและทิ้งระเบิดในกัมพูชาอย่างลับๆ จนถึงเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยเคนท์สเตต ต่อมาในปี 1971 มีการปฏิบัติการทางทหารในลาวเพื่อตัดเส้นทางโฮจิมินห์

เดือนธันวาคม 1972 นิกสันสั่งโจมตีทางอากาศครั้งที่รุนแรงที่สุดของสงครามในปฏิบัติการไลน์แบคเกอร์ (Operation Linebacker) มีการโจมตีอย่างรุนแรงในเขตที่มีประชากรหนาแน่นของฮานอยและไฮฟอง ระเบิดประมาณ 20,000 ตันถูกทิ้งลงทั่วภูมิภาคนี้ เพื่อกดดันให้เวียดนามเหนือกลับมาเจราจาสันติภาพอีกครั้ง

27 มกราคม 1973 นิกสันลงนามใน สนธิสัญญาสันติภาพปารีส ยุติการมีส่วนร่วมโดยตรงของสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม เวียดนามเหนือยอมหยุดยิง กุมภาพันธ์ถึงเมษายน 1973 เวียดนามเหนือปล่อยตัวเชลยศึกชาวอเมริกัน 591 คน ในวันที่ 29 มีนาคม 1973 ทหารอเมริกันคนสุดท้ายเดินทางออกจากเวียดนาม มีเพียงเพียงพลเรือนติดอาวุธ 7,000 นายที่คงไว้เพื่อปกป้องสถานที่สำคัญหรือแหล่งผลประโยชน์ของอเมริกัน และไม่มีกองกำลังทหารของสหรัฐฯในเวียดนามอีกต่อไป ตลอด 8 ปีที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในสงครามนี้ ส่งผลให้ทหารอเมริกันกว่า 58,000 คนเสียชีวิต อีกกว่า 300,000 คนได้รับบาดเจ็บ

30 เมษายน 1975 เวียดนามเหนือและกองกำลังเวียดกงบุกยึดทำเนียบประธานาธิบดีเวียดนามใต้ สงครามเวียดนามที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลากว่า 19 ปี ยุติลงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

สหรัฐอเมริกายกเลิกการเกณฑ์ทหาร

27 มกราคม 1973 สหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ได้ลงนามในกฎหมายเพื่อยุติร่างกฎหมายการเกณฑ์ทหารอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามในช่วงสองปีถัดไปจนถึงปี 1975 ยังให้มีการการลงทะเบียนเพื่อเรียกเข้าเป็นทหารในแบบที่เรียกว่า Selective Service และได้ถูกยกเลิกอย่างถาวรในเดือนเมษายน 1975 อย่างไรก็ตามในปี 1980 ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ (James E. Carter) ได้นำ Selective Service System มาใช้ใหม่ เพื่อตอบโต้การรุกรานอัฟกานิสถานของสหภาพโซเวียต และระบบ Selective Service ก็ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน

ปี 1975 ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ได้อภัยโทษให้ผู้ที่หลบหนีการเกณฑ์ทหารในสงครามเวียดนามทั้งหมด

ที่ผ่านมาสำหรับคนอเมริกันแล้ว ริชาร์ด นิกสัน อาจเป็นประธานาธิบดีที่ได้ชื่อว่า “แย่” ที่สุดคนหนึ่ง แต่หากมองถึงสิ่งที่เขาได้ทำให้กับชาวอเมริกัน เฉพาะแค่เรื่องการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และที่สำคัญคือการยุติสงครามเวียดนาม ล้วนเป็นสิ่งที่เขาได้รับปากไว้ในช่วงหาเสียงทั้งสิ้น การถอนทหารออกจากเวียดนามโดยกระบวนการเจรจาสันติภาพในปี 1973 เป็นไปโดยความต้องการของประชาชนชาวอเมริกัน ด้วยความพากเพียรและกล้าหาญของ พลังคนหนุ่มสาว มิใช่เพราะพ่ายแพ้ต่อศัตรู แต่เป็นการยุติสงครามอย่างมีเกียรติ ตามคำสัญญาที่เขาได้ให้ไว้ หากถือว่าเป็นความพ่ายแพ้ ก็เป็นการพ่ายแพ้ต่อประชาชนชาวอเมริกันเอง

นิทรรศการ แขวน ระลึก 44 ปี 6 ตุลา 5 October 2020
Chainwit., CC BY-SA 4.0 via Wikimedia Commons

ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในอีกฟากโลกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เหตุการณ์กราดยิงที่มหาวิทยาลัยเคนท์สเตตสร้างความตื่นตระหนกให้กับคนทั่วโลก ภายหลังได้มีการกำหนดมาตรการต่างๆขึ้นมาเพื่อป้องกันโศกนาฏกรรมในลักกษณะนี้ไม่ให้เกิดขึ้นมาอีก เนื่องจากเป็นเรื่องที่ไม่มีใครยอมรับได้ เพราะเป็นการที่รัฐได้สังหารเด็กๆซึ่งเป็นประชาชนของตนเองเพียงเพราะพวกเขาต้องการแสดงออกทางการเมืองโดยสงบเท่านั้น สังคมโลกจึงมองว่าเหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นมาได้อีกในสังคมอารยะยุคใหม่ แต่..

วันที่ 6 ตุลาคม 1976 ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทย ขณะที่นักศึกษา นักเรียน กรรมกร และประชาชนได้รวมตัวกันเพื่อชุมนุมคัดค้านการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลเผด็จการที่ถูกโค่นล้มจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 1973 ในตอนเช้ามืดตั้งแต่เวลา 5:30 น. กองกำลังตำรวจตระเวณชายแดนพลร่ม ร่วมกับตำรวจนครบาล และกลุ่มพลเรือนขวาจัดซึ่งถูกจัดตั้งขึ้น ได้เข้าปิดล้อมมหาวิทยาลัย จากนั้นได้เปิดฉากระดมยิงอาวุธสงครามนานาชนิดเข้าใส่กลุ่มนักศึกษาที่ปราศจากอาวุธ ทั้งปืนพก ไรเฟิลอัตโนมัติ เครื่องยิงลูกระเบิด ไปจนถึงจรวดต่อสู้รถถัง เหตุการณ์ยุติลงหลังการระดมยิงอย่างบ้าคลั่งผ่านไปเป็นเวลาถึง 6 ชั่วโมง นักศึกษาและประชาชนเสียชีวิตตามตัวเลขของทางการ 40 คน บาดเจ็บ 167 ราย ขณะที่รายงานอย่างไม่เป็นทางการระบุว่า มีผู้ประท้วงเสียชีวิตมากกว่า 100 ราย นักศึกษาหลายคนถูกกลุ่มขวาจัดหัวรุนแรงลากไปเผาทั้งเป็น บางคนถูกแขวนคอกับต้นไม้รอบสนามหลวง ขณะที่นักศึกษาหญิงบางคนถูกล่วงละเมิดทางเพศก่อนถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด

เหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนี้ (6 October 1976 massacre) เกิดขึ้นหลังการกราดยิงที่โอไฮโอเพียง 6 ปี เป็นความตั้งใจและตระเตรียมการไว้ล่วงหน้า โดยการทำโฆษณาชวนเชื่อผ่านสถานีวิทยุของรัฐมาเป็นเวลานานพอสมควร และถือเป็นความอัปยศที่สุดของชาติซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหนในโลกมาก่อน จนถึงปัจจุบัน ผู้กระทำยังไม่เคยได้รับโทษ หรือแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

แล้วมันก็ลงเอย
ทหารยิงพวกเราล้มลง
มันควรเป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้ว
จะเป็นอย่างไรถ้าคุณรู้จักเธอ
แล้วเห็นเธอล้มลงสิ้นชีพบนพื้นตรงหน้า
คุณจะวิ่งหนีไปอย่างนั้นหรือ?

สี่คนจบชีวิตลงที่โอไฮโอ..
..อีกเท่าไหร่ถึงจะพอ?


ลิงก์เพื่อการอ้างอิง

Kent State shootings
https://en.wikipedia.org/wiki/Kent_State_shootings

“Ohio” – Neil Young Lyrics Analysis
http://thrasherswheat.org/fot/ohio.htm

Should’ve Been Done Long Ago: “Ohio” Part 4
https://singout.org/should-have-been-done-long-ago-ohio-part-4/

The Antiwar Movement
https://www.ushistory.org/us/55d.asp

Chronology of Events, May 1-4, 1970
https://www.library.kent.edu/special-collections-and-archives/may-4-chronology

THE MAY 4 SHOOTINGS AT KENT STATE UNIVERSITY: THE SEARCH FOR HISTORICAL ACCURACY
https://www.kent.edu/may-4-historical-accuracy

“How can you run when you know?”: the national response
https://www.britannica.com/event/Kent-State-shootings/How-can-you-run-when-you-know-the-national-response

Students for a Democratic Society
https://digilab.libs.uga.edu/exhibits/exhibits/show/civil-rights-digital-history-p/students-for-a-democratic-soci

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *