ผมไม่ได้ดูทีวีมาเกือบสิบปีแล้ว เวลาที่จะเสพข่าวสารก็จะอาศัยสองช่องทางผ่านอินเทอร์เน็ตคือ ข่าวการเมือง สังคม เศรษฐกิจจากทวิตเตอร์ ซึ่งหากต้องการรายละเอียดเขาก็จะมีลิงก์โยงไปสำนักข่าวโดยตรงให้ ส่วนข่าวทั่วๆไปก็จะดูจากยูทูป เพราะสำนักข่าวทั้งหลายจะมารวมกันอยู่ที่นี่
วันนี้เห็นข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กอีกแล้ว แม่เลี้ยงเดี่ยวคนหนึ่งใช้ไม้ตีลูกจนไม้หัก มีคนถ่ายคลิปวิดีโอแล้วนำมาเผยแพร่ สังคมมีคำวิพากย์วิจารณ์กันอย่างรุนแรง ไม่ว่าแม่ของเด็กจะบอกว่ารักลูก ห่วงความปลอดภัยและให้คำอธิบายอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นการละเมิด ทารุณกรรม หรือกระทำความรุนแรงต่อเด็ก (Child Abuse) ซึ่งในบ้านเราปัจจุบันนี้ถือเป็นความผิดทางกฎหมายและจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบกับเรื่องนี้โดยตรงคอยดูแลอยู่
ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กหลายกรณีด้วยกัน ที่สะเทือนความรู้สึกของสังคมมากที่สุดก็คือเหตุการณ์ที่พ่อเลี้ยงจับลูกเลี้ยงวัย 8 ขวบมัดมือโยง บังคับให้ดื่มน้ำปัสสาวะแล้วเฆี่ยนตีจนตาย กรณีนี้เริ่มจากการทารุณกรรมเด็กแล้วจบลงที่การฆาตกรรม ถือเป็นอาชญากรรม (Criminal) ซึ่งผู้ลงมือกระทำไม่สมควรได้รับการให้อภัยใดๆ อีกไม่กี่วันต่อมาก็มีข่าวพ่อแม่แท้ๆทุบตีแล้วเอาบุหรี่จี้ลูกวัยแค่ 4 ขวบจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และเรื่องราวเหล่านี้ก็คงไม่สิ้นสุดลงเพียงแค่นั้น
เมื่อเราย้อนกลับไปดูข่าวที่ผ่านมาหลายปีมานี้ จะเห็นว่ามีเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าในสังคมของเรามีการกระทำความรุนแรงต่อเด็กแฝงอยู่ทุกที่จนแทบจะเป็นเรื่องปกติ ซึ่งแม้จะมีกฎหมายและบทลงโทษผู้กระทำก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลงไปเลย
การทารุณกรรมเด็กคืออะไร
การทารุณกรรมต่อเด็ก (Child Abuse) หมายถึงการกระทำความรุนแรงต่อเด็กโดยผู้ใหญ่ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งคนในครอบครัว พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือบุคคลภายนอกเช่นครู เพื่อนๆ พี่เลี้ยงเด็ก โคชกีฬา ฯลฯ รวมทั้งบุคคลอื่นที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับเด็กเลยก็ได้ การกระทำดังกล่าวหากเกิดขึ้นภายในครอบครัวก็จะรวมเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Abuse)
การทารุณกรรมเด็กไม่ได้จำกัดเพียงแค่การกระทำโดยตรงต่อร่างกายเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการทำร้ายจิตใจ การกดดัน ดุด่าด้วยถ้อยคำรุนแรง การเยาะเย้ย ล้อเลียนหรือทำให้อับอาย การละเลยไม่ดูแลเลี้ยงดูด้านความต้องการพิ้นฐานตามสมควรแก่ฐานะ ไม่ให้คำแนะนำสั่งสอนในด้านดีอย่างสม่ำเสมอ ละเลยต่อการให้ความรัก ความอบอุ่นและความปลอดภัย รวมถึงการทำให้เด็กเห็นความรุนแรงในครอบครัว และที่สำคัญคือการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก
ในกรณีนักแต่งเพลงคนหนึ่งแสดงความรักต่อบุตรสาวผ่านทางโซเชียลมีเดีย แต่สังคมเห็นภาพแล้วมองว่าไม่เหมาะสม กรณีนี้หากเกิดในประเทศที่เจริญแล้วอาจเข้าข่ายละเมิดต่อเด็กได้ เพราะเมื่อสังคมวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ เด็กอาจถูกเพื่อนๆล้อเลียนจนเกิดผลกระทบต่อจิตใจของเด็กได้
หยุดความรุนแรงด้วยบทกวีและเสียงเพลง
ในช่วงทศวรรษ 1980 นักกิจกรรมจำนวนมากได้รณรงค์ต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงภายในครอบครัว นักร้องนักแต่งเพลงหลายคนได้ออกผลงานเพื่อสะท้อนถึงปัญหานี้ให้สังคมตระหนักพร้อมทั้งเรียกร้องให้ออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้ต่อกรณีนี้โดยตรง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งและยังได้แพร่กระจายแนวคิดนี้ไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก ทำให้สังคมโลกตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหามากยิ่งขึ้น
หนึ่งในบทเพลงที่ต่อต้านการทารุณกรรมเด็กที่ได้รับการยอมรับอย่างมากเป็นผลงานของ Suzanne Vega ชื่อเพลง Luka เป็นเรื่องราวของเด็กชายที่อาศัยอยู่บนชั้นสองของอพาร์ทเม้นท์ เด็กน้อยถูกกระทำความรุนแรงจากบุคคลในครอบครัวอยู่เสมอแต่ยังพยายามปกปิดเรื่องที่เกิดขึ้นต่อบุคคลภายนอกที่อยากจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
..ผมชื่อลูก้า อาศัยอยู่ชั้นสองเหนือห้องของคุณ
คุณก็คงเคยเห็นผมมาก่อนแล้ว
ตอนดึกๆถ้าหากได้ยินเสียงอะไร
แบบคล้ายๆมีปัญหาหรือเหมือนการต่อสู้กัน
โปรดอย่าถามนะว่าเกิดอะไรขึ้น
..อย่าถามนะ..อย่าถาม !
คิดว่าผมคงซุ่มซ่ามไปหน่อย
พยายามไม่พูดดังเกินไปแล้ว
หรืออาจเป็นเพราะผมติงต๊อง
แต่ก็พยายามไม่ทำอะไรให้ดูเหมือนเย่อหยิ่ง
พวกเขาก็แค่ตี..จนคุณร้องไห้
ไม่ต้องถามนะว่าทำไม
คุณอย่ามาซักไซ้ไล่เลียงอะไรอีก..
..อย่ามาถกเถียงกันอีกเลย
แน่นอนผมคิดว่าผมโอเคนะ เดี๋ยวก็จะกลับไปเข้าห้องแล้ว
ถ้าคุณจะถามว่าผมอยากบอกอะไรไหม
มันไม่ใช่ธุระกงการอะไรเลย
คิดว่าผมอยากจะอยู่ตามลำพัง
ไม่มีอะไรแตกหักเสียหาย ไม่มีอะไรถูกขว้างปา
ไม่ต้องถามหรอกว่าผมเป็นยังไงบ้าง..ไม่ต้องถาม
ผมชื่อลูก้า อาศัยอยู่บนชั้นสองเหนือห้องของคุณ…
อย่ายุ่ง..นี่มันเรื่องของผัวเมีย
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสตรีเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงภายในครอบครัว ค่านิยม “ชายเป็นใหญ่” มักเป็นตัวการสำคัญและเป็นต้นตอของความรุนแรงนี้เสมอ ในหลายสังคมมองว่าสตรีและเด็กเป็นสมบัติที่ผู้ชายซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวจะทำอย่างไรก็ได้ ค่านิยมลักษณะนี้มีสอดแทรกอยู่แม้ในส่วนของหลักศาสนา ถึงในปัจจุบันสังคมโลกจะยอมรับความเท่าเทียมกันของคนทุกคน แต่ในความเป็นจริงแล้วทัศนคตินี้ยังคงฝังหัวผู้คนอยู่อีกไม่น้อยเลย
Tracy Chapman เป็นนักร้องนักแต่งเพลงอีกคนหนึ่งที่มักมีผลงานกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงปัญหาต่างๆ จนถือว่าเป็นนักกิกรรมคนหนึ่งที่ทำเพื่อสังคมอยู่เสมอ เพลง Behind The Wall (ที่จริงน่าจะเรียกว่าบทกวีมากกว่า) บทเพลงที่เธอแต่งและขับร้องโดยไม่มีเสียงดนตรี เป็นบทเพลงเพื่อรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงต่อสตรี (Violence Against Women) เสียงร้องที่เยือกเย็นและหดหู่จนสามารถจินตนาถึงภาพของผู้หญิงหลังกำแพงคนนั้นได้เลย
..เมื่อคืนฉันได้ยินเสียงกรีดร้องดังลั่นจากหลังกำแพงนั่น(อีกแล้ว)
เป็นอีกคืนที่ไม่อาจข่มตาลงได้
ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะโทรแจ้งตำรวจ
ซึ่งกว่าจะมาถึงก็รอกันเป็นชาติ..ถ้าพวกเขามานะ
เมื่อมาถึงก็จะบอกว่า
พวกเขาไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงเรื่องภายในครอบครัว
ระหว่างสามีภรรยา และเมื่อพวกเขาเดินออกประตูไป
..น้ำตาก็ไหลพรากๆอาบแก้มของเธอ
เมื่อคืนฉันได้ยินเสียงกรีดร้อง..จากนั้นก็เงียบสนิทไป
รู้สึกหนาวเหน็บไปถึงวิญญาณได้แต่สวดภาวนาว่าฝันไป
เมื่อเห็นรถพยาบาลบนถนน
และตำรวจบอกว่าพวกเขามาเพื่อระงับเหตุ
หลังจากที่ทุกคนแยกย้ายกันไปแล้ว
พวกเราจะข่มตาหลับกันได้อีกไหมนะ..
คุณเคยเห็นพวกเขาไหม เด็กชายลูก้ากับผู้หญิงหลังกำแพงนั่น
แม้ในปัจจุบันสังคมจะมีความตระหนักในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว มีกฎหมายคุ้มครองปกป้องอยู่ก็ตาม แต่หากยังคงมีทัศนคติที่มีใครถือความเป็นใหญ่เหนือกว่าคนอื่น ยังชื่นชมบูชาลัทธิอำนาจนิยม(Authoritarianism) การแบ่งชนชั้นในสังคม (Hierarchical) เหตุการณ์อย่างนี้ก็จะยังคงวนเวียนอยู่ในสังคมนี้ต่อไปไม่ลดน้อยลงไปได้
วันนี้พวกเราได้หยุดตั้งใจมองดูบ้างไหมว่า เด็กชายลูก้า และหญิงสาวหลังกำแพงนั่น พวกเขาอยู่รอบๆตัวเรา ในหมู่บ้าน ในคอนโดฯ ในชุมชนรอบๆตัวเราบ้างหรือเปล่า..
..หรือว่าอยู่ในบ้านของเรานี่เอง !
ลิงก์ที่เกี่ยวข้องเพื่อการอ้างอิง
ฟังเพลง Luka : Suzanne Vega
https://www.youtube.com/watch?v=VZt7J0iaUD0
ฟังเพลง Behind The Wall : Tracy Chapman
https://youtu.be/huez5QyZ5lI
Suzanne Vega – Luka | The story behind the song | Top 2000 a gogo
https://www.youtube.com/watch?v=sKGoqpqJ-MM
What is child abuse?
https://www.government.nl/topics/child-abuse/what-is-child-abuse
Violence against women
https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/violence-against-women
Worksheet written by Prof. Mena Bianco, Naples
http://www.tuneintoenglish.com/behindthewall.pdf
This worksheet is to be used for educational purposes only
Activity © Tune into English 2010 – www.tuneintoenglish.com
Leave a Reply