ช่วงเช้า ก่อนการชุมนุมของนักศึกษากลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 มีข่าวเล็กๆเรื่องการยึดหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา” ซึ่งนักศึกษากำลังจะนำไปแจกในที่ชุมนุม หลายหมื่นเล่ม โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าจะนำไปตรวจสอบ ว่ามีส่วนใดผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งแท้จริงแล้ว อาจเป็นการปกปิด ป้องกันไม่ให้เนื้อหาภายในหนังสือแพร่หลาย ไปสู่ผู้ชุมนุมที่คาดว่า น่าจะมีหลายหมื่นคนได้รับรู้ หลังจากถูกยึดหนังสือทั้งหมดไป กลุ่มนักศึกษาได้นำเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ ไปทำเป็นหนังสืออิเลกทรอนิกส์ (E-Book) เผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ตให้ดาวน์โหลดอ่านกันได้ฟรี กลายเป็นว่า แทนที่จะมีคนไม่กี่หมื่นคนที่อยู่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนามหลวงเท่านั้นที่จะได้อ่าน กลับทำให้คนทั่วโลกหลายล้านคน ที่ใช้ภาษาไทยได้ สามารถดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ เอามาอ่านได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดของมุมโลก เหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เมื่อเฟซบุ๊กกลุ่ม (Facebook Group) ซึ่งก่อตั้งโดย ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่มีชื่อกลุ่มว่า “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ถูกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แจ้งความดำเนินคดีในความผิดตามพรบ.คอมพิวเตอร์ และขอศาลบังคับให้เฟซบุ๊กจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาของกลุ่มดังกล่าว ต่อมาในวันเดียวกันนั้น ดร.ปวินได้ประกาศจัดตั้งเฟซบุ๊กกลุ่มขึ้นมาใหม่โดยใช้ชื่อว่า “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” ปรากฏว่าเพียงวันแรกก็มีผู้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกจำนวนหลายแสนคน จนถึงปัจจุบันแม้จะยังก่อตั้งมาไม่ถึงหนึ่งเดือน แต่จำนวนสมาชิกปัจจุบันของกลุ่มนี้มีจำนวนเกือบ 1.5 ล้านคน และมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปรากฏการณ์สไตรแซนด์ คืออะไร
ปรากฏการณ์ความพยายามในการปกปิด ปิดบัง ลบออกหรือเซ็นเซอร์ซึ่ง ข้อมูล ข่าวสารที่ตนเองไม่ต้องการให้เผยแพร่ออกไป โดยเฉพาะที่เผยแพร่ ผ่านทางอินเตอร์เน็ตด้วยประการใดๆก็ตาม แต่ผลสะท้อนที่กลับมาของการกระทำนี้ กลับทำให้ข้อมูลเหล่านั้นแพร่กระจายออกไปอย่างมากมายโดยไม่ได้ตั้งใจ เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ปรากฏการณ์สไตรแซนด์ (Streisand Effect)
ไมค์ มาสนิค (Mike Masnick) ผู้ก่อตัังบล็อกที่รายงานเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเทคโนโลยีขื่อ “Techdirt” เป็นผู้ให้ขื่อปรากฏการณ์ “Streisand Effect” นี้เมื่อปี 2005 ตามชื่อของนักร้องนักแสดงชื่อดังชาวอเมริกัน บาร์บรา สไตรแซนด์ (Barbra Streisand) เจ้าของเพลง “Woman In Love” ที่เราได้ยินกันติดหู…It’s a right I’ll defend…over and over again.. What do I do?…นั่นแหละ
ปฐมบทแห่ง ปรากฏการณ์สไตรแซนด์
ที่มาของเรื่อง (ที่ไม่น่าจะเป็นเรื่อง) นี้มาจากบาร์บรา สไตรแซนด์ เธอได้ให้ทนายความยื่นฟ้องช่างภาพชื่อเคนเน็ต อเดลแมน (Kenneth Adelman) และเว็บไซต์ Pictopia.com (ปัจจุบันยุติการเผยแพร่ไปแล้ว) ในความผิดฐานคุกคาม และละเมิดความเป็นส่วนตัว เรียกค่าเสียหายจำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันที่ 1 usd = 31.50 บาทเป็นเงินรวม 1,575,000,000 ล้านบาท) และให้ลบภาพถ่ายทางอากาศที่ปรากฏภาพถ่าย บ้านพักตากอากาศของเธอที่มาลิบู แคลิฟอร์เนีย ซึ่งภาพนี้เป็นหนึ่งในจำนวนภาพถ่ายทางอากาศ ของชายฝั่งแคลิฟอร์เนียที่มีจำนวนมากกว่า 12,000 ภาพ อเดลแมน และภรรยาได้ใช้เฮลิคอปเตอร์ส่วนตัวเพื่อเก็บบันทึกภาพถ่ายทางอากาศของชายหาด ชายฝั่งบริเวณนี้ เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบภาพถ่ายในปีก่อน กับภาพถ่ายปัจจุบัน ว่ามีความเปลี่ยนแปลงใดๆที่ทำให้ ชายหาดหรือชายฝั่งเกิดความเสียหาย โดยเฉพาะที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์บ้างหรือไม่ อย่างไร ข้อมูลเหล่านี้จะใช้เป็นประโยชน์สำหรับหน่วยงานรัฐบาล หรือองค์กรสาธารณะ ในการกำหนดเป็นนโยบายในด้านที่เกี่ยวข้องต่อไป เรียกโครงการนี้ว่า “โครงการบันทึกภาพชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย (California Coastal Records Project)” ภาพบ้านของสไตรแซนปรากฏอยู่ในภาพถ่ายหมายเลข 3850 ซึ่งก่อนที่จะเกิดการฟ้องร้อง ภาพนี้ถูกดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของอเดลแมนเพียง 6 ครั้ง สองครั้งในนั้นเป็นการดาวน์โหลดโดยทีมทนายความของสไตรแซนด์เอง เมื่อข่าวการฟ้องร้องนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่ามีผู้เข้าถึงภาพถ่ายนี้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เพราะเพียงหนึ่งเดือนหลังจากนั้นมีคนเข้าดูภาพนี้แล้วกว่า 420,000 ครั้ง
การฟ้องคดีเพื่อปิดปาก
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของอเดลแมนกล่าวว่า พวกเขาใช้กฎหมายต่อต้านการใช้กฎหมายปิดปาก (anti-SLAPP motion) ในการต่อสู้คดีกับสไตรแซนด์ โดยกฎหมายฉบับนี้ออกมาก่อนที่จะถูกเธอฟ้องร้อง และรัฐแคลิฟอร์เนียถือเป็นรัฐแรก ที่ออกกฎหมายฉบับนี้มาบังคับใช้ ศาลได้พิจารณาและเห็นว่าคำฟ้องของสไตรแซนด์ เข้าข่ายการฟ้องคดีเพื่อปิดปาก (SLAPP) และตัดสินยกฟ้องเป็นผลให้เธอแพ้คดี และต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายในศาลเป็นเงิน 177,107.54 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 5.58 ล้านบาทให้กับอเดลแมนและพวก
การฟ้องคดีเพื่อปิดปาก หรือการแกล้งฟ้องคืออะไร บทความในเว็บไซต์ “ประชาไท” ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า ““SLAPP” ย่อมาจากคำเต็มว่า Strategic Lawsuit Against Public Participation ซึ่งหมายถึง การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ หรืออาจเรียกง่าย ๆ ว่า “การฟ้องคดีเพื่อปิดปาก” หรือ “การแกล้งฟ้อง” คดีประเภทนี้จะแตกต่างจากคดีทั่ว ๆ ไปตรงที่ ผู้ฟ้องไม่ได้มุ่งหมายที่จะชนะคดี แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อขู่อีกฝ่ายให้กลัว หรือทำให้เกิดภาระมากมายจนหยุดการกระทำ หรือแกล้งขัดขวางยับยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพของอีกฝ่ายเท่านั้น โดยถ้อยคำข้างต้นพ้องกับคำว่า slap ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีความหมายว่า “ตบ” ทำให้เห็นได้ว่าการฟ้องคดีที่มีลักษณะเป็น SLAPP ก็เหมือนเป็นการตบคนด้วยกฎหมายนั่นเอง”
ทำไมจึงเป็น ปรากฏการณ์สไตรแซนด์
การนำชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียง มาใช้เป็นชื่อเรียกปรากฏการณ์ต่างๆนี้มีหลายปรากฏการณ์เช่น เรียกปรากฏการณ์ที่คนจำนวนมาก ที่เป็นอิสระต่อกันมีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเหมือนกันแต่เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เช่น ปรากฏการณ์แมนเดลา (Mandela Effect) เป็นเหตุการณ์ที่ผู้คนจำนวนมาก มีความทรงจำเหมือนกันว่า เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีของประเทศแอฟริกาใต้เสียชีวิตในคุก เมื่อปี 1980 ทั้งที่ท่านเพิ่งเสียชีวิตเมื่อปี 2013 หลังจากได้เป็นประธานาธิบดีแล้วเป็นต้น สำหรับชื่อบุคคนที่จะนำมาใช้ก็จะต้องเป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายระดับโลก ไม่ใช่เป็นนายกรัฐมนตรีของบางประเทศ ทำเรื่องบ้องตื้นอะไรแล้วจะถูกนำมาใช้คงไม่ใช่
บาร์บรา สไตรแซนด์ นอกจากเธอจะเป็นนักร้อง นักแสดง และผู้กำกับชื่อดังแล้ว ทัศนคติทางสังคมและการเมืองของเธอก็ต้องถือว่า มีความร้อนแรงระดับแนวหน้าทีเดียว ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาครั้งที่ผ่านมา เธอให้การสนับสนุนนางฮิลลารี คลินตัน (Hillary Rodham Clinton) ผู้สมัครพรรคเดโมแครต (Democratic Party) โดยผ่านบทความที่เธอเขียนในบล็อกส่วนตัวที่มีอยู่ในเว็บบล็อกชื่อดัง “The Huffington Post” (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น HuffPost) และยังได้ใช้บทความตอบโต้การหาเสียงของนายดอนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) คู่แข่งของนางคลินตันเมื่อถูกทรัมป์โจมตีอย่างเผ็ดร้อน ครั้งหนึ่งเมื่อทรัมป์พูดหาเสียงพาดพิงว่าคลินตันนั้นไม่มีมาดของประธานาธิบดีเอาเสียเลย (Hillary doesn’t look presidential) สไตรแซนด์ตอบโต้อย่างดุเดือดผ่านบทความที่เธอเขียน เมื่อ 22 กันยายน 2016 ว่า “ที่ทรัมป์พูดว่าฮิลลารีไม่ได้มีมาดของประธานาธิบดีเลยน่ะ หมายความว่าไง.. คำพูดที่มาจาก ชายที่มีมาดอย่างกับแรคคูนบนเก้าอี้ชายหาด แรคคูนที่มีกระรอกบินแปะอยู่บนหัวน่ะ มาดประธานาธิบดีจะเป็นแบบไหนกันล่ะ” เมื่อบทความนี้เผยแพร่ออกไป สื่อระดับโลกเกือบทุกฉบับได้นำเสนอรายงานข่าวนี้ พร้อมทั้งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลาย หรือเมื่อครั้งที่เธอฟ้องร้องให้ลบภาพถ่ายบ้านพักของเธอซึ่งเป็นที่มาของคำว่า Streisand Effect หรือ ปรากฏการณ์สไตรแซนด์ นั้นสังคมก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเธออย่างหนักเช่นกัน บางคนเสียดสีเอาไปเขียนเป็นชื่อบทความว่า “เธอจะต้องร้องเพลงทำไมในเมื่อฟ้องร้องเอาก็ได้” (Why sing when you can sue?) นักวาดการ์ตูนคนหนึ่งวาดภาพสไตรแซนด์ นั่งตาขวางอยู่ในศาล ขณะที่ทนายของเธอกำลังชี้ภาพลูกโลกให้ศาลดูพร้อมมีคำพูดประกอบว่า “เธอกำลังจะฟ้องนาซาเพราะถ่ายภาพลูกโลกซึ่ง (น่าจะ) มีภาพบ้านของเธออยู่ในนั้น” เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมประจักษ์ว่าบาร์บรา สไตรแซนด์เธอมีชื่อเสียงระดับโลกจริงๆ การนำชื่อไปตั้งเป็นปรากฏการณ์ใดๆ ถือว่าเหมาะสมแล้ว
One response to “ปรากฏการณ์สไตรแซนด์ ยิ่งปิด ยิ่งแพร่กระจาย”
Normally I do not read post on blogs, but I would like to say that this write-up very forced me to take a look at and do
it! Your writing style has been amazed me.
Thanks, quite great post.